วันนี้ (15 ก.ย.2564) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช.เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.2564
ข้อมูลจนถึงวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมด 4,333 ราย และยังอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 105 ราย โดยทางคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 3,224 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 1,004 ราย รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 157,295,000 บาท
เกณฑ์เยียวยาตาม 3 ระดับความรุนแรง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์นั้น ๆ โดยระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 2,892 ราย ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 240,000 บาท มีผู้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 21 ราย และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 400,000 บาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 311 ราย
กทม.มากที่สุด 914 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า หากพิจารณาแยกตามเขต พบว่า สปสช.เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามามากที่สุด จำนวน 914 ราย รองลงมาคือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 618 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี 499 ราย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากจำนวนเงินที่มีการจ่ายเยียวยาไป พบว่า สปสช.เขต 13 กทม. จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 17,033,000 บาท รองลงมาคือ สปสช.เขต 4 สระบุรี 16,971,500 บาท และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี จ่ายเงินแล้ว 15,576,700 บาท
นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน COVID-19 ของ สปสช.นั้น ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งแม้ในภายหลังจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุของอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากวัคซีน ก็ไม่เป็นเหตุให้เรียกเงินคืนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน COVID-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่ สปสช.เขตพื้นที่ ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย