วันนี้ (3 ก.ย.2564) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงในที่ประชุมสภาฯ เรื่องยางพาราและการระบายยางพารา โดยระบุว่า การประชุมทุกครั้งจะต้องมีองค์ประชุมครบจึงจะดำเนินการได้ และจะต้องเป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เข้ารับตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในเดือน ก.ค.2562 ซึ่งรัฐบาลแถลงให้ "ยางพารา" เป็นหนึ่งในสินค้า 5 ชนิดที่รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้ราคาพืชผลการเกษตร โดยต้องการให้ประชาชนได้รับการประกันว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
รัฐบาลทำทุกวิธีทาง จนช่วงเวลาหนึ่งยางพารามีราคาเกินกว่าราคาประกัน และรัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีไปชดเชยส่วนต่าง กระทั่งประสบวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามมีการบูรณาการทำงานกับหลายกระทรวงเพื่อแก้ปัญหา
นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง กยท.มียางอยู่ในสต็อกทั้งหมด 104,000 ตันเศษ ซึ่งยางที่เก็บไว้ต้องเสียค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย และต้องจ่ายค่าจ้างทุกปี ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี และเริ่มต้นทำสัญญาเช่าต่อในเดือน มิ.ย.
ในปี 2555 โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง มีการซื้อยางเข้าสต็อกเพื่อให้ปริมาณในตลาดลดลง เป็นการรักษาเสถียรภาพราคายาง เพราะขณะนั้นราคาตก รัฐบาลในสมัยนั้น เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ได้รับซื้อยางเข้ามาทั้งหมด 213,492 ตัน ในราคาเฉลี่ย 98.96 บาทต่อกิโลกรัม ใช้งบฯ 21.126 ล้านบาท ถือเป็นยางก้อนแรกที่เข้าสู่สต็อกในปี 2555 และในปี 2557 มีการเปลี่ยนชื่อโครงการ เป็นโครงการสร้างมูลพันธ์กันชน แต่ยังดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง
เมื่อนำยางเข้ามาในสต็อก ก็มีการระบายยางครั้งแรกในปี 2557 มีการลงนามสัญญากับบริษัทแห่งหนึ่งซื้อ 278,000 ตัน เมื่อทำสัญญาแล้วราคายางตกลงอย่างมาก ซึ่งบริษัทดังกล่าวรับยางไปเพียง 37,602 ตัน
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า การประมูลครั้งที่ 2 ในรอบปี 2559-2560 เป็นการประมูลแบบคละเหมาคุณภาพ แยกเป็นโกดัง
ที่มีผู้อภิปรายว่า กรณีการประมูลยางครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการประมูลแบบคละเหมา ยืนยันว่าไม่ใช่ แต่แตกต่างกันที่การประมูลครั้งที่ 2 เปิดให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพก่อน หากพอใจโกดังไหน ก็ประมูลโกดังนั้น และคงไม่มีพ่อค้าคนไหนเลือกยางเสียออกไป
การประมูลครั้งที่ 2 เหลือยางในสต็อกจนถึงปัจจุบัน 104,000 ตันเศษ ซึ่งยางที่เก็บในสต็อกเป็นเวลา 9 ปีและถูกคัดเลือกของดีไปหมดแล้ว ถือว่ายางในสต็อกครั้งนี้เป็นฝันร้ายของเกษตรกร แต่รัฐบาลมาช่วยคลายล็อก ไม่ให้พ่อค้าบางกลุ่มมากดราคาเกษตรกรโดยอ้างว่ายางไม่ขาด มีอยู่ในสต็อก ทั้งที่ยางในสต็อกไม่มีสภาพที่จะใช้แล้ว
ระหว่างปี 2555-2559 ค่าใช้จ่ายในการซื้อยางเข้าสต็อก คือค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย โดยตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปี 2559 ใช้งบฯ 2,317 ล้านบาท เป็นเงินของรัฐบาลที่เข้ามาชดเชย แต่หลังการประมูลครั้งที่ 2 ปี 2559-2564 ยางจำนวนกว่า 104,000 ตัน มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 925 ล้านบาท เป็นเงินของกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งเอาไว้ใช้ดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง
นี่คือเงินที่เสียไปกับการดูแลสต็อกยาง สต็อกที่แทบจะไม่มีคุณภาพ ถือเป็นฝันร้ายของเกษตรกร
นายเฉลิมชัย ยังระบุอีกว่า คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ มีมติเมื่อปี 2563 ให้ระบายยางในสต็อกนี้ให้หมดโดยเร็ว ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และส่งมติไปที่ กยท. แต่ขณะนั้นราคายางผันผวน ตนในฐานะกำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย จึงให้นโยบาย กยท.ไปดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายยาง เพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด อีกทั้งเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์ รักษาผลประโยชน์ภาครัฐ และถูกต้องตามกฎระเบียบ
จากนั้นมีการกำหนดทีโออาร์ของผู้ที่จะเข้าร่วมการประมูล ซึ่งมีผู้มีคุณสมบัติ 6 ราย จึงได้ทำหนังสือไปถึงบริษัททั้ง 6 โดยได้ประกาศตามเว็บไซต์และสื่อตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องชัดเจน โดยให้ยื่นราคาประมูลในวันที่ 20 เม.ย. จากนั้นมีการตรวจสอบคุณสมบัติและมีเพียงบริษัทเดียว จึงได้เปิดซองประมูล และผู้ว่การาฯ กยท.ได้เซ็นสัญญาขายในวันที่ 28 เม.ย. ทำหนังสือมาที่ตนเองลงวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งนี่คือกระบวนการที่มาทั้งหมดของการขายยางในครั้งนี้
"ประภัตร" มั่นใจคุมลัมปีสกินได้ เร่งฉีดวัคซีนโค-กระบือ
นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้รับอนุมัติงบกลางมา 684 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 ก.ค.นี้ เพื่อนำไปป้องกันและรักษาโรคลัมปี สกิน ซึ่งนำไปจัดหาวัคซีน 5 ล้านโดส เวชภัณฑ์ ยาต่างๆ และวิตามิน ขณะที่ไทยมีโคกระบือ 10 ล้านตัว ฉีดไปแล้วประมาณ 1 ล้านตัว ส่วนที่เจ็บป่วยยังฉีดไม่ได้ ซึ่งประเมินว่า 5 ล้านโดสจะใช้เวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค. - ก.ย.2564
กรณีที่เป็นห่วงว่าโรคนี้จะสงบไหม สงบครับ วันที่เจอพีคสุดคือวันละ 20,000 ตัว ตอนนี้เหลือประมาณวันละ 200 ตัว เมื่อฉีดวัคซีน 5 ล้านโดสจบแล้ว มั่นใจว่าจะทำให้โรคลัมปี สกินหายไปได้
ส่วนสถานการณ์โคกระบือที่เป็นโรคลัมปี สกิน ทั้งหมด 65 จังหวัด ป่วยสะสม 579,855 ตัว รักษาหายแล้ว 420,512 ตัว ตาย 49,633 ตัว และยังรักษาอยู่อีกประมาณ 100,000 ตัว ส่วนเงินช่วยเหลือเยียวยาโคกระบือที่เป็นโรคนี้ ได้แก่ โคที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน ตายรวม 24,610 ตัว จ่ายเงินชดเชย 13,000 บาท จากเดิม 6,000 บาท ส่วนโคที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน - 1 ปี ตายรวม 11,308 ตัว จ่ายเงินชดเชย 22,000 บาท จากเดิม 10,000 บาท
ขณะที่โคที่มีอายุ 1 - 2 ปี ตายรวม 3,125 ตัว จ่ายเงินชดเชย 29,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท ส่วนโคที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ตายรวม 9,851 ตัว ปรับเป็นอัตราใหม่ จ่ายเงินชดเชยตัวละ 35,000 บาท
ทั้งนี้ มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งสัตว์เลี้ยงที่ตายจากโรคนี้จะได้รับการเยียวยาอัตราใหม่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในครั้งนี้ได้รับการยกเว้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปูด “ดาบ อ.-เจ๊ อ.”ค้าแรงงานค่าหัวคิวปีละ 250 ล้าน
"สุชาติ" โต้ฝ่ายค้านใช้เงินรัฐบาลเยียวยาแรงงาน-ไม่ตกหล่น