ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชง "ค่างตะนาวศรี - งูหางแฮ่มกาญจน์" เข้าบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

สิ่งแวดล้อม
25 ส.ค. 64
11:12
4,063
Logo Thai PBS
ชง "ค่างตะนาวศรี - งูหางแฮ่มกาญจน์" เข้าบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง
ทส.เสนอเพิ่มสัตว์ 7 ชนิดหายากใกล้สูญพันธุ์ เข้าบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง คือค่างตะนาวศรี งูหางแฮ่มกาญจน์ ปลากระเบนปีศาจหางเคียว ฉลามหัวค้อนยาว ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนใหญ่ ฉลามหัวค้อนเรียบ พร้อมยกสถานะ "ฉลามวาฬ-เต่ามะเฟือง-วาฬบรูด้า" เป็นสัตว์ป่าสงวน

วันนี้ (25 ส.ค.2564) นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2564 ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกระทรวงฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ...และให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณา ซึ่งวันนี้ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติตามขั้นตอน

เพิ่ม 7 สัตว์หายากเข้าบัญชีคุ้มครอง

นายพงศ์บุณย์ กล่าวว่า การพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ...เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 7 ของพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ได้มีการปรับปรุงจากบัญชีท้ายกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

โดยมีการปรับสถานะรายการสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน 3 รายการ ได้แก่ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และวาฬบรูด้าการเพิ่มรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 7 รายการ

สัตว์ที่ปรับเพิ่มเข้าบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้แก่ ค่างตะนาวศรี งูหางแฮ่มกาญจน์ ปลากระเบนปีศาจหางเคียว ฉลามหัวค้อนยาว ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนใหญ่ และฉลามหัวค้อนเรียบ 
ภาพ : Nonn Panitvong.

ภาพ : Nonn Panitvong.

ภาพ : Nonn Panitvong.

 

นอกจากนี้ยังมีการปรับลดรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 20 รายการ เช่น ค้างคาวกินแมลงนิ้วสั้น ค้างคาวปีกขนเหนือ พญากระรอกบินหูขาว นกกระเต็นน้อยหลังแดง ตะพาบพม่า และปลาฉนากฟันเล็ก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำในปัจจุบัน

รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อภาษาไทย และชื่อวิทยาศาสตร์ ในลำดับชั้นสกุล หรือในลำดับชั้นชนิด ในบางรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ กรมอุทยานฯ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศช่วงวันที่ 1-15 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน และประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้จัดทำแผนพัฒนากฎหมายทส.ในช่วงปี พ.ศ.2565-2567 โดยให้แต่ละหน่วยงานจัดทำระยะเวลาการพัฒนากฎหมายแต่ละฉบับให้ชัดเจน

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

รู้จัก "งูหางแฮ่มกาญจน์" หากยากใกล้สูญพันธุ์

ตรวจสอบข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานข้อมูลการสำรวจงูหางแฮ่มกาญจน์ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2562 ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมร่วมสำรวจกับนักวิจัยจากกรมอุทยานสำรวจงูหางแฮ่มกาญจน์ สัตว์ป่าเฉพาะถิ่น บริเวณน้ำตกเกริงกระเวีย

สำหรับ งูหางแฮ่มกาญจน์ มีชื่อสามัญ Kanburi Pit Viper ชื่อวิทยาศาสตร์ :Cryptelytrops kanburiensis (Smith, 1943) งูหางแฮ่มกาญจน์ เป็นสัตว์เฉพาะของประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในป่าไผ่ภูเขาหินปูนแถบ จ.กาญจนบุรี เป็นงูพิษในวงศ์งูเขียวหางไหม้ ตัวผู้มีลำตัวสีเขียวขี้ม้าปนน้ำตาล หรือสีเทา-เขียว มีลายปื้นซิกแซ๊กพาดขวางลำตัว เพศเมียมีขนาดตัวสั้นกว่า ลำตัวสีน้ำตาลเทาอ่อน มีปื้นสีน้ำตาลเข้มรอบลำตัว ออกลูกเป็นตัว

เนื่องจากเป็นงูสวยงามหายาก มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endanger : IUCN Redlist 2012) และมีรายงานการซื้อขายระหว่างประเทศจำนวนมาก ทำให้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) มีความเห็นว่าควรเสนอขึ้นบัญชีแนบท้ายเพื่อควบคุมการค้าหรือไม่ ทั้งนี้กรมอุทยานฯ ได้ให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินการสำรวจประชากรในธรรมชาติ เพื่อวางแผนการจัดการ และการอนุรักษ์ต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง