ภาพความน่ารักถูกส่งต่อในโซเชียลจำนวนมาก เมื่อช้างป่า "พลายเดียวหลับ" บุกท้าชนช้าง "พลายนิ่ง" (รูปปั้นช้างขนาดเสมือนจริง) เจ้าถิ่นประจำศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนล้มนอนตะแคงกับพื้น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ "สุทธิพร สินค้า" เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมและเฝ้าระวังสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ทำงานผูกพันกับช้างป่ามานาน 20 ปี จนถูกขนานนามว่า ชายผู้สื่อสารกับช้างได้ เกี่ยวกับภารกิจ "ช้าง" ดูแลตั้งแต่กู้กัย การจราจร และอารักขาช้างป่า

"ไม่จริง ๆ" สุทธิพรตอบทันที ที่ได้ยินคำถามจากหลายคนพูดว่า เขาคุยกับช้างได้ พร้อมอธิบายว่า เป็นความคุ้นชินกันมากกว่า ที่สำคัญต้องมีระยะการเข้าหาให้ปลอดภัยทั้งคนและช้างป่า ส่วนภาพที่ดูเหมือนใกล้ชิดกันนั้นอาจเป็นมุมกล้องที่นักท่องเที่ยวถ่ายภาพไว้
เมื่อถามว่าช้างเขาใหญ่ดุหรือไม่? สุทธิพร บอกว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่เรียกว่า อันตรายดีกว่า อย่าเข้าใกล้ เพราะอาจทำลายรถ หรือทำร้ายนักท่องเที่ยว จึงขอให้เว้นระยะระหว่างรอเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล
ไม่ได้เข้าใกล้ขนาดนั้นหรอก ช้างเขาใหญ่ส่วนใหญ่นิสัยไม่ค่อยดุร้าย
ทำงานมานาน 20 ปี สุทธิพร พูดได้เต็มปากว่า จำได้ทุกตัว ช้างแต่ละตัวไม่เหมือนกันเลย หน้าตา งา ตัว ตำหนิ เห็นมานานก็จำได้ทุกตัว รู้นิสัยเขาด้วย" เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ประจำกลายเป็นความคุ้นเคยและความรัก คอยดูแลไม่ให้รถเฉี่ยวชนช้างป่า ด้วยการจัดการจราจร กันรถ วิธีจะแตกต่างกันระหว่างช้างโขลงกับช้างเดี่ยว หากช้างป่าตัวผู้เดินบนถนน ต้องดูก่อนเลยว่าเป็นตัวใด มีนิสิยอย่างไร เพราะบางตัวค่อนข้างดุ ก็ต้องนำรถไปกันให้นักท่องเที่ยวปลอดภัย แล้วปล่อยช้างเดินไป

ช้างบางตัวต้องใช้วิธี "คุยเบา ๆ บอกขอทางหน่อยนะ แปปนึง นิดนึง แล้วโบกไม้โบกมือให้" โดยปล่อยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จักรยาน สัญจรผ่านได้ ส่วนตัวไหนไปพบตอนดึงต้นไม้มากินบนถนนแล้ว ก็ต้องขอให้นักท่องเที่ยวสัก 10-20 นาที เมื่อช้างกินเสร็จก็เดินเข้าป่าเอง ขณะที่บางคนไม่กล้าขับรถผ่านเส้นทางที่ช้างอยู่ ก็ให้ถอยหลังสัก 30 เมตร เพื่อความปลอดภัย รอตนเองและทีมงานไปจัดการจราจร คุ้มกันนักท่องเที่ยว และอารักขาช้างไม่ให้รถเชี่ยวชน
สุทธิพร ยังเล่าถึงวีรกรรมช้างป่า โดยเฉพาะ 5 ตัว ซึ่งเป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยวและชาวโซเชียล อันดับ 1 เป็นพี่โย่ หรือโยโย่ ตัวนี้ต้องคอยดูแลใกล้ชิดเรียกได้ว่า วีไอพี เพราะชอบรื้อของหลังรถนักท่องเที่ยว หาของกินที่ลานกางเต็นท์ รื้อเต็นท์ บางครั้งถูกขัดใจไม่ให้รื้อของ ก็ต้องค่อยขับรถประกบผลักดัน
อันดับ 2 พี่ด้วน เรียกชื่อตามหางที่ด้วน วีรกรรมรื้อศูนย์อาหารวนาลี รื้อกระติกแม่ค้า, อันดับ 3 พี่ดื้อ ลักษณะงายาว ตัวนี้ยอมรับดุและดื้อสมชื่อ ต้องคอยกันเข้าข้างทางให้รถนักท่องเที่ยวผ่านไปได้, อันดับ 4 พี่งาทอง ช้างป่าตัวใหญ่ นิสัยเรียบร้อย น่ารัก เมื่อรถมาก็หลบให้ และอันดับ 5 เบี่ยงเล็ก ชอบเดินบนถนนและหากินกลางวัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลิกโฉมคุม "ช้างป่า" เล็งทำหมัน-ติดปลอกคอคุมเร่ร่อน
เธอจะน่ารักหรือจะร้าย รู้จัก "ช้างป่า" เขาใหญ่ ให้มากขึ้น
10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอ "พี่ดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่และผองเพื่อน