ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ด่วน! กรมอุทยานฯ ยอมรับ "วัวแดง" ห้วยขาแข้งติดลัมปี สกิน

สิ่งแวดล้อม
20 ก.ค. 64
15:09
5,438
Logo Thai PBS
ด่วน! กรมอุทยานฯ ยอมรับ  "วัวแดง" ห้วยขาแข้งติดลัมปี สกิน
กรมอุทยานฯ ยอมรับพบ "วัวแดง" ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นโรคลัมปี สกิน เบื้องต้นกล้องดักถ่ายภาพสัตว์พบ อย่างน้อย 9 ตัวขึ้นตุ่มขึ้นผิวหนังพบออกมาหากินแนวป่ากันชนที่ชาวบ้านนำวัวมาเลี้ยง ส่งทีม"หมอล็อต"สอบสวนโรค ห่วงลามควายป่าฝูงสุดท้าย

กรณีน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน หลังได้รับรายงานว่า วัวแดงจำนวน 9 ตัว มีความเสี่ยง และมีลักษณะเป็นตุ่มขึ้นตามตัวคล้ายกับโรคลัมปี สกิน ที่กำลังระบาดกับโค-กระบือ

วันนี้ (20 ก.ค.2564) นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ได้รับรายงานจากผู้เชี่ยวชาญกรมปศุสัตว์แล้วว่า อาการผิวหนัง ที่พบในฝูงวัวแดง 9 ตัว เบื้องต้นบ่งชี้ว่า เป็นโรคลัมปี สกิน ตอนนี้ส่งทีมกลุ่มจัดการสุขภาพสัตว์ป่า นำโดยนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน พร้อมทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ อีก 5 คนลงพื้นที่สอบสวนโรคแล้ว

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ภาพวัวแดงพบว่าเป็นลัมปี สกิน พบจากกล้อง CCTV ที่ติดไว้ โดยวัวแดงเป็นวัวแดงฝูงนี้ มักออกมาหากินอยู่แถวพื้นที่เตรียมผนวกบริเวณพื้นที่ทับเสลา-ห้วยระบำ ห่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งประมาณ 10 กิโลเมตร แต่พื้นที่แนวกันชนมักจะมีการนำวัว ควายเข้ามาเลี้ยงใกล้เขตป่าอยู่แล้ว จึงถือว่ามีความเสี่ยง

ภาพ:กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพ:กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพ:กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่าเป็นรอยโรคของลัมปี สกิน ตอนนี้เก็บตัวอย่างเลือดมาส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ และส่งเจ้าหน้าที่คอยติดตามอาการของวัวแดง เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีอาการแย่ลง พร้อมทั้งประเมินการเข้ารักษา เพื่อไม่ให้วัวแดงตาย

นายสมปอง กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการป้องกันโรคลัมปี สกิน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กำชับให้ทุกพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีแนวกันชนและมีสัตว์ป่าที่เสี่ยง เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า รวมทั้งห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ที่มีกระทิง วัวแดง ในกลุ่มสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อโรคลัมปี สกินให้เพิ่มความเข้มงวดอย่างสูงสุด ห้ามนำสัตว์เลี้ยงมาใกล้แนวเขตป่า และเจ้าหน้าที่ต้องลาดตระเวน และต้อนสัตว์ป่าเข้าในพื้นที่

ยอมรับว่ากังวลที่เจอลัมปี สกิน ในฝูงวังแดงได้อีก เพราะโรคนี้มีแมลงเป็นพาหะ ถ้าบินไปเกาะวัวแดง หรือสัตว์ป่าอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ ตอนนี้ต้องประสานปศุสัตว์มาเร่งฉีดพ่นยากันแมลงและฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวอีกว่า เท่าที่ประเมินอาการ วัวแดงยังไม่มีอาการรุนแรง เชื่อว่าเปอร์เซ็นต์การตายน้อยกว่าวัวบ้าน เพราะสัตว์ป่าจะมีภูมิคุ้มกันกว่า แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังสูงสุด เพราะป่าห้วยขาแข้งมีทั้งวัวแดง กระทิง รวมทั้งมหิงสา หรือควายป่าฝูงสุดท้ายอยู่

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

อ่านข่าวเพิ่ม อุทยานฯ ยกระดับคุม "ลัมปี สกิน" ประชิดป่าห้วยขาแข้ง

เฝ้าระวัง ควายป่าฝูงสุดท้าย พ้นลัมปี สกิน

นายธนิต หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดของลัมปี สกินในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งนอกจากจะมีวัวแดงแล้ว ยังห่วงมหิงสา หรือ ควายป่า

ซึ่งจากรายงานพบที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน เป็นพิเศษ โดยให้เจ้าหน้าที่ออกประสานงานกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

พร้อมขอความร่วมมือราษฎรในพื้นที่ ไม่นำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใกล้แนวเขตอย่างเด็ดขาด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวนเฝ้าระวัง 20 นาย เฝ้าระวังเป็นจุดๆ ป้องกันการลักลอบนำสัตว์มาเลี้ยงในพื้นที่ และผลักดันไม่ให้สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาอย่างต่อเนื่อง

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

สำหรับจุดที่พบสัตว์เลี้ยงตาย ในจ.อุทัยธานี อยู่ห่างจากแนวเขตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประมาณ 15-20 กิโลเมตร ซึ่งโรคนี้สาเหตุหลักติดต่อทางแมลงดูดเลือด

ดังนั้นในทางปฎิบัติการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยเฉพาะกับสัตว์ป่า เป็นเรื่องที่ยาก แต่จากนี้ไปจะให้เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำส้มควันไม้ที่ได้รับมาจากวัดท่าซุงรอบๆ บริเวณ

ก่อนหน้านี้สัปดาห์ก่อนมีรายงานกระทิงติดลัมปี สกินตาย 1 ตัว ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีแล้ว และกรมอุทยานฯ ส่งทีมเข้าสอบสวนโรค พร้อมเฝ้าระวังฝูงกระทิงในป่าอย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบรอยโรค 2 กระทิงกุยบุรี สงสัยติดเชื้อ "ลัมปี สกิน"

ผลแล็บชี้กระทิงกุยบุรี ติด "ลัมปี สกิน" ตาย 1 ตัว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง