ชีวิตของคนในพื้นที่แออัด
คนในชุมชนวัดดวงแข เขตประทุมวัน ส่วนใหญ่ยึดอาชีพขายสินค้าในสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง แต่เมื่อไม่สามารถขายได้ หลายคนจึงต้องจอดรถเข็นอยู่ที่บ้าน บ้างคนเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด คนที่ยังอาศัยอยู่ก็หาอาชีพเสริมพอได้มีค่าเช่าที่พัก
ชุมชนดวงแขมีประชากรอยู่ประมาณ 70 หลังคาเรือน แต่มากไปกว่านั้นเกินร้อยละ 50 ของคนในชุมชนเป็นประชากรแฝง ซึ่งพักอาศัยอยู่ในห้องเช่ากว่า 120 ห้อง บนพื้นที่ 3 ไร่ของชุมชน
ความแออัดจึงทำให้เห็นตัวบ้านเรือนบริเวณนี้มีความสลับสับซ้อน แม้พวกเขาจะรู้ว่าชุมชนแออัด แต่โชคชะตาของชีวิตก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ของประเทศเป็นเช่นนี้
ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
จุฬารัตน์ ชาวชุมชนดวงแข เล่าว่า ทุกวันเธอต้องเตรียมข้าวเหนียวหมูทอด 1 กิโล เพื่อนำไปขายบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ในช่วงเช้า-เย็น เธอเปลี่ยนมาขายหมูทอดได้ไม่ถึง 1 ปี หลังจากเคยขายน้ำ และถูกสั่งห้ามขายสินค้าในพื้นที่
เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ ต่อวันหักต้นทุนแล้วเหลือกำไรเพียงวันละประมาณ 100 บาท เธอพักอาศัยในบ้านเช่าใกล้วัดดวงแข เดือนละ 3,000 บาท ขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 8 เมตร ถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้องย่อย เพื่อพักอาศัยร่วมกับลูกสาว ลูกเขย และหลานอีก 2 คน
หากจะใช้มาตรการเว้นระยะห่างกับครอบครัว อาจเป็นไปได้ยาก จึงทำได้เพียงสวมใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดบ้าน และงดให้หลานออกไปเล่นนอกบ้าน
คนในชุมชนช่วยกันดูแล
อาสาสมัครทำงานในชุมชนบอกว่า การสื่อสารให้ความรู้ และตักเตือนให้ป้องกันตนเองกับคนในชุมชน จึงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ แม้คนส่วนใหญ่ในชุมชนเองจะมาจากต่างจังหวัด แต่หากพูดถึงการเว้นระยะห่างในชุมชน รวมไปถึงการดูแลความสะอาด แล้วอาจเป็นไปได้ยาก