วันที่ 28 เม.ย.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข แถลงเปิดตัวไลน์ OA "หมอพร้อม" เพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเปิดให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค จำนวน 16 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านการลงทะเบียนด้วยไลน์ OA "หมอพร้อม"

ประชาชนส่วนอื่นยังไม่ได้ลงทะเบียนใน 2 เดือนนี้ แต่จะดำเนินการจัดสรรตามจำนวนวัคซีนที่ทยอยเข้ามา เนื่องจาก สธ.ประเมินความสำคัญตามลำดับในความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนก่อน
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งกลุ่มคนออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.บุคลากรการแพทย์ 2.บุคลากรด่านหน้า 3.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค 4.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 5.กลุ่มอายุ 18-59 ปี
16 ล้านคนแรก ลดอัตราการเสียชีวิต - ป่วยหนัก
สำหรับระยะแรก ได้ฉีดให้กลุ่มที่ 1 และ 2 ไปแล้ว ขณะนี้เป็นระยะที่ 2 จะฉีดให้กลุ่มที่ 3 และ 4 จำนวน 16 ล้านคน คือ กลุ่มคนมีป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรือรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
2 กลุ่มนี้ที่จะได้ฉีดก่อน เพราะดูข้อมูลการเสียชีวิต พบผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้สูงอายุ และผลการศึกษาพบว่าวัคซีนช่วยลดการตายและนอนโรงพยาบาล ดังนั้น 2 กลุ่มนี้ จึงเป็นกลุ่มที่ต้องปกป้องก่อน
ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลได้นำรายชื่อของคนสูงอายุ มีโรคประจำตัว ขึ้นในไลน์หมอพร้อมแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้จองคิวตั้งแต่ 1 พ.ค.2564 เป็นต้นไป โดยขอเพิ่มเพื่อนได้ในบัญชีทางการของแอปพลิเคชันไลน์ แล้วกรอกเลขบัตร 13 หลัก จองวัคซีนตามเวลาที่สะดวก กดเมนูจองวัคซีน COVID-19 อาจเลือกในโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ หรือโรงพยาบาลในภูมิลำเนา หรือห้างสรรพสินค้าในพื้นที่
หากจองคิวแทนบุคคลในครอบครัว สามารถกดเพิ่มบุคคลอื่น เพื่อแก้ไขข้อมูลส่วนตัว เพื่อลงทะเบียนให้พ่อแม่ได้ ส่วนคนที่ไม่มีโทรศัพท์ไปจองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โทรไปจองที่โรงพยาบาลได้ หรือประสาน อสม.ในพื้นที่ได้

อ่านเพิ่มเติม : ทำความเข้าใจ 12 ฟังก์ชันไลน์ "หมอพร้อม" ลงทะเบียนฉีดวัคซีน
กลุ่ม 18-59 ปี รอจองเดือน ก.ค.นี้
ส่วนระยะที่ 3 กลุ่มประชาชนอายุ 18-59 ปี จะเปิดจองในช่วงเดือน 1 ก.ค. ก่อนจะเริ่มฉีดวัคซีนในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. ต่อไป แต่หากในช่วงนี้รัฐบาลหาวัคซีนมาเพิ่มได้ เช่น รัฐบาลหาวัคซีนเหมาะกลุ่ม อายุ 12-18 ปี หรือกลุ่มคุณครู กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หากหาวัคซีนได้ก็เสริมได้ ยืนยันว่า คนไทยทุกคนจะได้รับวัคซีน

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับประเทศต้องมีผู้ได้รับวัคซีน 70% ของประชากร 70 ล้านคน ซึ่งรวมถึงคนที่เข้ามาพำนักในประเทศไทยด้วย ประมาณได้ 50 ล้านคน หากวัคซีนโดยทั่วไปฉีดคนละ 2 โดส แสดงว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องฉีดวัคซีน 100 ล้านครั้ง
กระทรวงสาธารณสุขประมาณการว่าจะฉีดวัคซีนได้วันละ 300,000 โดสขึ้นไป หรืออย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อให้ทันสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นปริมาณที่สูง แต่กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมสถานที่ฉีดวัคซีนไว้แล้วทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง พร้อมเตรียมพื้นที่นอกโรงพยาบาลในเขตเมือง เช่น ศาลาประชาคม สนามกีฬา หรือห้างสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้ง่าย โดยจังหวัดต่าง ๆ จะไปพิจารณา เพื่อให้ฉีดวัคซีนได้มากขึ้น
16 ล้านคน มีชื่อในระบบ มั่นใจลงทะเบียนไม่ล่ม
ขณะที่ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านสาธารณสุข ระบุว่า สำหรับระบบการลงทะเบียนรับวัคซีนนั้น ระบบหลังบ้านได้จัดเตรียมรองรับการเข้าใช้งาน 5 เท่า จากประมาณการเข้าระบบ 20,000 คน ต่อวินาที พร้อมตัดฟังก์ชันที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน และนำข้อมูลขึ้น คลาวด์ถึง 3 คลาวด์
นอกจากนี้ โรงพยาบาลจะเป็นหน่วยงานที่นำชื่อกลุ่มเป้าหมายทั้ง 16 ล้านคนขึ้นระบบในไลน์ ดังนั้น หากประชาชนไม่ใช่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรคที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็จะไม่พบชื่อในระบบและลงทะเบียนไม่ได้
มั่นใจว่าระบบลงทะเบียนจะไม่ล่ม และประชาชนทยอยลงทะเบียนได้ เพราะวัคซีนมีครอบคลุม 16 ล้านคนตามรายชื่อที่ขึ้นอยู่ในระบบ หากเช็กชื่อไม่เจอไปแจ้งโรงพยาบาลได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม ระบบข้อมูลจะถูกนำขึ้นโดยโรงพยาบาลที่กลุ่มเป้าหมายรับบริการโดยประจำ เช่น หากกลุ่มเป้าหมายมีภูมิลำเนาเป็นคน จ.อุดรธานี แต่มาทำงานที่กรุงเทพมหานคร แล้วไปใช้บริการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประจำ ระบบจะขึ้นตัวเลือกให้ทั้งโรงพยาบาลที่ จ.อุดรธานี และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมถึงจุดฉีดสนามในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย
หากจำเป็นอยู่จังหวัดอื่นจริง ๆ แจ้งที่โรงพยาบาลให้นำชื่อเข้าระบบได้ แต่ สธ.ไม่ทำระบบให้เลือกได้ทุกโรงพยาบาล เพราะบางคนอาจเลือกเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ ๆ จนเกิดความหนาแน่น จึงจัดระบบนี้ไว้
แท็กที่เกี่ยวข้อง: