ผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง บอกว่า ในช่วงปกติ มีรายได้มากกว่า 1,000 บาท/วัน เพราะเป็นย่านธุรกิจ และใกล้สถานีรถไฟฟ้า จึงมีลูกค้าใช้บริการจำนวนมาก แต่การระบาดรอบ 3 ทำให้รายได้ลดลง บางวันเหลือเพียง 60 บาท และรู้สึกว่า ผลกระทบการระบาดรอบนี้ หนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
แม่ค้ารายย่อย บอกว่า หลังจากทุกคนหยุดอยู่บ้าน ยอดขายก็ตกลง ร้อยละ 20 เพราะปกติลูกค้าจะเป็นพนักงานบริษัท และเมื่อหมดมาตรการรัฐ ยอดขายยิ่งลดลง
ส่วนบางคนตกงานจากภาคอุตสาหกรรม และบริการ ก็ย้ายไปเป็นแรงงานภาคเกษตร แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่าประชากรเกษตรมีรายได้เพียง ร้อยละ 6 ของรายได้ประเทศเท่านั้น

คำสั่งล็อกดาวน์ประเทศ ในการระบาดรอบแรก กระทบธุรกิจสายป่านสั้น และชีวิตแรงงานจำนวนมาก จนกระทรวงการคลัง ต้องออกมาตรการ แจกเงินเยียวยาคนไทย 26 ล้านคน ใช้เงินไปมากกว่า 390,000 ล้านบาท เพื่ออุดรอยรั่วระบบสวัสดิการประเทศในยามวิกฤต

ธนาคารโลก คาดว่า โควิด-19 ส่งผลให้คนไทยเข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2563 เป็น 5,200,000 คน หรือ เพิ่มขึ้น 1,500,000 คน หากเทียบกับปี 2562 ที่มีคนยากจนอยู่ที่ 3,700,000 คน
ขณะที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ รายงานว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุด ร้อยละ 5 มีสัดส่วนกำไรมากถึง ร้อยละ 60 ของรายรับทั้งหมด
ไม่นับรวม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2565 แบบ “แก่ ก่อน รวย” แถมเป็นหนี้ และไม่มีเงินออม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ต้องสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง เพิ่มการเข้าถึงโอกาส เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 13 รวมทั้ง เร่งรัดมาตรการสนับสนุนการให้ความรู้ ด้านทักษะการเงินส่วนบุคคล
ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาสวัสดิการ ต้องปรับปรุงระบบทะเบียนของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน 13.8 ล้านคน แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงข้อมูลมาเกือบ 3 ปี รวมทั้งบูรณาการฐานข้อมูล ผู้มีรายได้น้อยใหม่ ให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์ และออกแบบสวัสดิการ ให้ถูกต้อง-เหมาะสม แต่การดำเนินการ อาจต้องเลื่อนออกจากกำหนดการเดิม ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายนนี้