ไม่มีแมสก์ใหม่เปลี่ยนทุกวัน แต่ก็ซัก เพื่อที่จะให้มีแมสก์ใส่เวลาหนูกับแม่จะออกมานอกบ้าน
เด็กหญิงชาวเมียนมา ที่อาศัยอยู่ในชุมชนอิสลาม อ.แม่สอด จ.ตาก บอกกับผู้สื่อข่าว หลังพบเธอกำลังเข็นรถเข็นแม่ที่พิการ ไปซื้อของยังร้านค้าภายในชุมชน
นี่เป็นลักษณะความเป็นอยู่ที่พบเห็นได้ใน “ชุมชนอิสลาม” ใจกลางเมืองอำเภอแม่สอด เพราะด้วยพื้นที่ติดกับแนวชายแดนไทย-เมียนมา จึงไม่แปลกที่ภายในชุมชน จะเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม
“ชุมชนอิสลาม” เป็นหนึ่งในชุมชน ที่พบการติดเชื้อโควิด-19 และมีคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้ล็อกดาวน์ชุมชนบางส่วน ห้ามคนเข้า-ออก ช่วงวันที่ 8-12 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนอิสลาม บอกว่า บทเรียนการระบาดในรอบที่ผ่านมา ทำให้ครั้งนี้ยังไม่พบการติดเชื้อในชุมชน คนในชุมชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนหนึ่งมาจากการร่วมประชาสัมพันธ์ เน้นย้ำมาตรการจากภาครัฐ ที่มีทั้งภาษาไทย และภาษาเมียนมา สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงสถานการณ์
คนในชุมชนมีบทเรียนว่า หากไม่ป้องกัน ไม่ช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา หากมีคนติดเชื้อขึ้นมาแค่ 1 คน และถูกสั่งปิดชุมชนอีก ก็จะได้รับผลกระทบกันไปหมด ทั้งคนติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เพราะคนส่วนใหญ่ รับจ้างรายวัน หาเช้ากินค่ำ
ล่าสุดมีคำสั่งจังหวัดตาก เรื่องมาตรการป้องกันควบคุมโรค ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก สวมใส่หน้ากากทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหะสถาน หากฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท เริ่มต้นวันที่ 22 เม.ย.2564 โดยทาง อสม.และหน่วยงานในพื้นที่ เตรียมหน้ากากไว้ช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ไม่มีหน้ากากอนามัย
ดูแลกันเองเข้มงวดใน "เดือนรอมฎอน"
ในสถานการณ์ระบาดระลอก 3 เป็นช่วงเวลาเดียวกับการถือศีลอด หรือ เดือนรอมฎอน ของชาวมุสลิม ในชุมชนอิสลามแม่สอด จึงได้เห็นการปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติให้สอดคล้องกับการควบคุมโรค มัสยิดทุกแห่งงดการละหมาดรวมกลุ่ม ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ทุกครอบครัวทำอาหาร หรือ ซื้อใส่กล่อง กลับไปละศีลอดในบ้านของตัวเอง
ตลาดอาหารละศีลอด ทุกปีจะคึกคักไปด้วยผู้คน แต่ปีนี้มีการเว้นระยะห่าง กำหนดให้ใส่หน้ากากอนามัย และมีเจ้าหน้าที่คอยวัดอุณหภูมิ พร้อมแจกแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนเข้าพื้นที่
แม้การระบาดระลอก 3 ใน อ.แม่สอด จะอยู่ในกลุ่มผู้เดินทางกลับจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยง มากกว่าในชุมชนของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แต่ด้วยลักษณะชุมชน ที่มีผู้คนหลากหลายและหนาแน่น ทำให้มาตรการป้องกันรวมถึงการดูแลกันเอง ถูกนำมาใช้เข้มงวดมากขึ้นในช่วงเวลานี้