วันนี้ (16 เม.ย.2564) นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส.เปิดเผยว่า การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ สร้างผลกระทบโดยตรงกับวัยแรงงานอย่างรุนแรง เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน
จากการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤต COVID-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็ก แห่งสหประชาชาติ ปี 2563 พบว่าประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน
จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ หรือทักษะในการประกอบอาชีพจากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคนว่างงานกว่า 6 ล้านคน
พบแรงงานส่วนมากไม่มีแผนออม
ที่สำคัญยังพบว่า แรงงานทั้งในและนอกระบบส่วนมากยังไม่มีแผนการออม ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ด้วยสถานะของแรงงานในระบบ ทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นบุคคลที่มีทักษะเชิงเดี่ยวไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที
จากการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง
สสส.ผุดโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต
สสส.ได้ริเริ่มโครงการ "ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ" โดยสนับสนุนทุนให้ประชาชนโครงการละ 50,000-100,000 บาท ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและทักษะด้านการเงิน
2.ส่งเสริมให้คนในชุมชนพัฒนาแหล่งอาหาร และ 3.ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ-รายได้ ในพื้นที่ควบคุม 20 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: