ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ท่าทีไทยต่อปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดนตะวันตก

การเมือง
31 มี.ค. 64
15:26
395
Logo Thai PBS
ท่าทีไทยต่อปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดนตะวันตก
"อดีตเจ้ากรมกิจการชายแดน" สะท้อนปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดนตะวัน 9 ศูนย์พักพิง เป็นปมปัญหาที่ไทยต้องแบกรับตามหลักมนุษยธรรมมาร่วม 37 ปี และคาดหวังว่าวิกฤตผู้หนีภัยการสู้รบอีกครั้งจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยปัญหาในอดีตที่ยากต่อการแก้ไข

จากสถานการณ์ความรุนแรงตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่ปะทุขึ้นหลังการรัฐประหาร ส่งผลให้มีทั้งผู้บาดเจ็บจากการสู้รบ และมีประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หนีเข้ามาในฝั่งไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอน

ทำให้เกิดคำถามถึงปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบ ที่ยังค้างอยู่ในศูนย์พักพิงตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 9 แห่งใน 4 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบันรวมกว่า 7-9 หมื่นคน ตามข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง

 

กลุ่มผู้หนีภัยจากการสู้รบในศูนย์พักพิงสืบเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองและชาติพันธุ์ในเมียนมา ซึ่งแต่ละกลุ่มมีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง และเกิดปัญหาการสู้รบมาร่วม 60-70 ปี โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งมีถิ่นฐานติดชายแดนไทย

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตเจ้ากรมกิจการชายแดน บก.กองทัพไทย ระบุว่า เคยมีข้อมูลผู้หนีภัยจากการสู้รบ ในบริเวณชายแดนตะวันตก สูงที่สุดกว่า 200,000 คน

 

จากยอดสูงสุด 200,000 คน ขณะนี้เหลือเกือบแสนคน ซึ่งประเทศที่ 3 จะคัดคนที่มีศักยภาพ ไปอยู่ประเทศของตน ซึ่งเป็นจำนวนน้อย และส่วนหนึ่งกลับไปถิ่นฐานเดิม แต่ติดขัดเรื่องกฎระเบียบ ทำให้เกิดปัญหาคั่งค้าง

อดีตเจ้ากรมกิจการชายแดน ยังสะท้อนปัญหาผู้หนีจากการสู้รบที่อยู่อาศัยในศูนย์พักพิงของไทยว่า มีทั้งปัญหาเด็กเกิดใหม่ที่ต้องดูความเป็นอยู่ และการศึกษา ตามหลักของสหประชาชาติ

การเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ภายในศูนย์หลายครั้ง รวมไปถึงปัญหายาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการลักลอบหนีออกมาทำงาน ซึ่งยังไม่พบข้อดีของการดูแลผู้หนีภัยจากการสู้รบเหล่านี้ แต่ไทยก็ต้องดูแลตามหลักมนุษยธรรม

 

พร้อมวิเคราะห์ว่า ผู้หนีภัยจากการสู้รบ เป็นปลายเหตุของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ แต่ต้นเหตุที่แท้จริง คือปัญหาจากการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน และคาดหวังว่า วิกฤตรอบนี้จะเกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะมั่นใจว่า ชาวบ้านที่หนีจากการสู้รบเข้ามาย่อมต้องการกลับถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง

 

ทั้งนี้หากประเมินท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต่อสถานการณ์ผู้หนีภัยจากการสู้รบกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาที่ย้ำถึงช่วยเหลือตามมนุษยธรรมและส่งกลับถิ่นฐานโดยเร็ว จึงนับเป็นการแสดงบทบาทที่สอดคล้องสถานการณ์ ทั้งไม่เป็นการเพิ่มเงื่อนไขและเพิ่มภาระซ้ำรอยปัญหาเดิม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง