ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สำรวจ "รอยเสือโคร่ง" ป่ามรดกโลกทับลาน ก่อนผุดอ่างคลองวังมืด

สิ่งแวดล้อม
29 มี.ค. 64
14:41
1,636
Logo Thai PBS
สำรวจ "รอยเสือโคร่ง" ป่ามรดกโลกทับลาน ก่อนผุดอ่างคลองวังมืด
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจผลกระทบโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด และอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร ในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ คาดจะต้องสูญเสียป่ากว่า 3,500 ไร่ พบความสมบูรณ์ของสัตว์ป่า เช่น เสือโคร่ง กระทิงเข้ามาหากินใกล้จุดสร้างอุโมงค์เชื่อมป่าแค่ 2 กม.

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจแนวก่อสร้าง ที่คาดว่าจะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด ในฝั่งอุทยานแห่งชาติทับลาน ห่างจากอุโมงค์เชื่อมผืนป่าประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางเข้าผ่านสวนป่าเขาไผ่ เข้ามาส่วนไปยังคลองวังมืด พบสภาพป่ายังมีความสมบูรณ์ ตลอดเส้นทางที่คดเคี้ยวและลาดชัน

นายวันธง สุขเกษม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน บอกว่า พื้นที่สวนป่าเขาไผ่ เป็นแปลงปลูกป่าที่ฟื้นฟูและมีการโอนพื้นที่ให้กับอุทยานแห่งชาติทับลาน ส่วนใหญ่เป็นไม้ขนาดใหญ่ดั้งเดิม เช่น ไม้ประดู่ ต้นลานอายุ 40 ปีขึ้นไป บริเวณนี้ตามแผนของกรมชลประทานจะสร้างเขื่อนเหนือคลองวังมืดขึ้นไป 2 กิโลเมตร และต้องเสียพื้นที่ป่าประมาณ 1,400 ไร่ในทับลาน

 

ส่วนนายวุฒิศักดิ์ คุ้มหมู่ เจ้าหน้าที่จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า จากจุดที่สำรวจคลองวังมืด มีสัตว์ป่าหลายชนิดทั้งเก้ง กวาง หมูป่า เลียงผา กระทิงเข้ามาใช้พื้นที่ รวมทั้งเสือโคร่งในป่าทับลาน ที่ขยับเข้าใกล้อุโมงค์เชื่อมป่าตอนบน ด้วยสภาพของพื้นที่ป่าที่ยังสมบูรณ์ จึงกังวลว่า ถ้ามีโครงการอ่างเก็บบน้ำคลองวังมืดเกิดขึ้น จะกระทบต่ออุโมงค์เชื่อมป่า ที่ทำเพื่อให้สัตว์ป่าเดินข้ามไปมา เนื่องจากพบร่องรอยของสัตว์ป่าในพื้นที่ เช่น เก้ง กวาง หมูป่า สัตว์เหยื่อของเสือโคร่งที่เราพยายามให้เสือโคร่งเข้าไปใช้พื้นที่ในฝั่งป่าเขาใหญ่

ถ้ามีอ่างเก็บน้ำคลองวังมืดเกิดขึ้นจริง ก็มีผลกระทบแน่นอน อุโมงค์เชื่อมป่าที่สร้างมาจะไม่มีค่าอะไร เลยถ้าอ่างเก็บน้ำเกิดขึ้นทั้งในฝั่งทับลาน และเขาใหญ่

รอยเสือโคร่งหากินใกล้อุโมงค์เชื่อมป่า ชี้วัดความสมบูรณ์

สอดคล้องกับข้อมูลของทีมวิจัยจากทับลาน ร่วมกับ WCS พบว่าเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่หมู่ 8 บ้านวังใหม่ ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี พบรอยตีนเสือโคร่งขนาดอุ้งตีนกว้าง 9 ซม. ยาว 12 ซม และกว้าง 12 ซม.อยู่ห่างจากทางเชื่อมผืนป่าประมาณ 1 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากบริเวณที่ทำการศึกษาอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด 2 กิโลเมตร

ขณะที่ยังมีการรายงานพบเสือโคร่ง ที่เข้าใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยพบว่าเพียง 2 เดือนของปีนี้มีร่องรอยเสือโคร่ง 34 รอยหากินในป่าทับลาน ส่วนปี 2563 มีมากถึง 142 รอย กระทิงเดินจากป่าเขาใหญ่มาทับลาน ประมาณ 10 กว่าจุด นอกจากนี้ข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ติดตั้งไว้ในอุโมงค์เชื่อมป่าทั้ง 2 จุดพบสัตว์ป่าหลากชนิดเข้ามาใช้พื้นที่มีทั้งกระทิง หมาไน เก้ง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงสำรวจจุดแรกอุโมงค์เชื่อมป่าจุดแรก ซึ่งทำรูปแบบให้รถวิ่งในอุโมงค์ด้านล่าง และสัตว์ป่าเดินข้ามด้านบน เราพบร่องรอยของสัตว์ป่าเข้ามาใช้พื้นที่ ซึ่งตลอดแนวระยะทาง 4 กิโลเมตร มีรอยตีนของเก้งขนาดใหญ่หลายจุดพบ ร่องรอยลูกมะกอกป่า และมูลของสัตว์ที่เพิ่งเข้ามาใช้พื้นที่ในโป่ง

 

นายป่าเหนือ ชีวะธรรม เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน บอกว่า บนอุโมงค์ด้านบนที่มีการปรับสภาพพื้นที่และปลูกพืชอาหารของสัตว์ป่า จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าพบว่า สัตว์ชอบออกมาหากินช่วงเช้ามืด  ช่วงหัวค่ำ และกลางดึก เนื่องจากจะความเงียบ และอากาศจะเย็นกว่าตอนกลางวันที่แดดร้อน

มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าไว้หลายจุดจากแนวเขตป่าเขาใหญ่และทับลาน เพื่อติดตามว่าจะมีสัตว์ป่าเดินไปหลากชนิดแค่ไหน ซึ่งแต่ละเดือนจะมาเก็บและเปลี่ยนอุปกรณ์ 

พบว่าช่วง 3 ปีหลังอุโมงค์เชื่อมป่าก่อสร้างแล้วเสร็จ มีสัตว์ป่ากลับมาใช้พื้นที่แล้ว ซึ่งพื้นที่นี้มีการปรากฎตัวของเลียงผา และเสือโคร่ง เข้ามาหากินใกล้พื้นที่ ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีในอนาคตสัตว์ป่าจะเดินข้ามไปมาทั้ง 2 ผืนป่า 

 

ขณะที่อุโมงค์อีก 1 จุดด้านล่าง เช้าวันต่อมา 19 มี.ค.เจ้าหน้าที่นำภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่ามาโชว์ พบเป็นเก้ง และกระทิงที่เพิ่งเข้ามาใช้พื้นที่ในช่วงเช้า ประกอบกับรอยตีนกระทิงขนาดใหญ่ที่เดินจากฝั่งป่าทับลานไปยังแนวเขตป่าเขาใหญ่ ทีมีมากกกว่า 10 รอย

นายวันธง บอกว่าอุโมงค์ข้ามป่าจุดนี้มีการสร้างสะพานแขวนเพื่อให้ชะนี และลิงข้ามไปมา 2 ฝั่งป่าแต่ยังไม่สามารถถ่ายภาพได้ เนื่องจากชะนีอยู่ป่าลึก และจุดนี้ก็ยังมีเสียงดังจากรถที่วิ่งบนอุโมงค์เชื่อมป่าด้านบน แม้ว่าจะมีที่กันเสียง แต่บางจุดพบชำรุดเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

กรมชลฯเดินหน้าสำรวจความเห็นก่อนทำอีไอเอ 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24-25 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้มอบหมายให้บริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้ศึกษาโครงการ ได้ลงพื้นที่ประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 (เวทีครั้งที่ 1) โครงการศึกษาแผนพัฒนาแหล่งน้ำ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำลำพระยาธาร จ.ปราจีนบุรี ที่หอประชุมที่ว่าการรอ.นาดี

ข้อมูลจากแผนการศึกษาที่กรมชลประทานนำเสนอ ระบุถึงแผนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งในพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ คืออ่างเก็บน้ำคลองวังมืด ในอุทยานแห่งชาติทับลาน และอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ข้อมูลระบุว่า ทางเลือกตั้งอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด มี 3 แนวทาง อยู่ในพื้นที่ ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ดังนี้

  • ที่ตั้งนอกเขตอุทยานทับลาน ความจุอ่าง 0.23 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวสันเขื่อน 3,156 เมตร ความสูง 8 เมตร ระดับเก็บกัก 111 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 190 ไร่
  • ทางเลือกที่ 1 (ในเขตอุทยานฯทับลาน) ความจุอ่าง 30.19 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับเก็บกักน้ำ +141 ม.รทก. ความยาวสันเขื่อน 1,164 เมตร ความสูง 42 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำระดับเก็บกัก 1,174 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 26,274 ไร่
  • ทางเลือกที่ 2 (ในเขตอุทยานฯทับลาน) ความจุอ่าง 40.11 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับเก็บกักน้ำ +159 ม.รทก. ความยาวสันเขื่อน 635 เมตร ความสูง 52 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำระดับเก็บกัก 1,245 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 35,089 ไร่
ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

 

ขณะที่อีกโครงการของอ่างเก็บน้ำลำพรยาธาร ซึ่งมีทางเลือกทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบว่า มี 3 แนวทางเลือกดังนี้

  • ทางเลือกที่ 1 (นอกเขตอุทยานเขาใหญ่) ความจุอ่าง 0.75 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวสันเขื่อน 524 เมตร ความสูง 8 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำระดับเก็บกัก 232 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 618 ไร่
  • ทางเลือกที่ 2 (ในเขตอุทยานฯเขาใหญ่) ความจุอ่าง 20.35 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับเก็บกักน้ำ +116 ม.รทก. ความยาวสันเขื่อน 2,334 เมตร ความสูง 25 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำระดับเก็บกัก 2,048 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 17,531 ไร่
  • ทางเลือกที่ 2 (ในเขตอุทยานฯเขาใหญ่) ความจุอ่าง 32.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับเก็บกักน้ำ +131 ม.รทก. ความยาวสันเขื่อน 802 เมตร ความสูง 32 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำระดับเก็บกัก 1,812ไร่ พื้นที่ชลประทาน 28,362 ไร่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยเสี่ยงหลุด “มรดกโลก” จับตาเขื่อนกลางป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง