วันนี้ (11 มี.ค.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจึงต้องหมั่นดูแลป้องกันตนเองอยู่เสมอ
โดยพบว่าจากรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ของระบบข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.–7 มี.ค.นี้ พบว่า มีผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการที่สถานพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีจำนวนสะสม 255,077 คน โดยเป็นผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองอุดตันขาดเลือด
สอดคล้องกับการเฝ้าระวังอาการตนเองของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง (อนามัยโพล) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1–8 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในภาพรวมมีอาการถึงร้อยละ 39.49 ส่วนใหญ่มีอาการแสบจมูกร้อยละ 19.32 คัดจมูก มีน้ำมูกร้อยละ 18.90 และอาการระคายเคืองตา ร้อยละ 15.54 และกลุ่มอายุ 45 – 54 ปี เป็นกลุ่มที่มีอาการมากที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "หมอกควัน" คลุม 19 พื้นที่ภาคเหนือ ขู่จับจริงมือเผาป่า
แนะเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง-เช็กค่าฝุ่น
นอกจากนี้ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์ฝุ่นมีค่าสูงเกินมาตรฐาน ควรปฏิบัติดังนี้ ตรวจเช็กค่าฝุ่น และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เช่น Air4Thai หรือ คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5 เลือกปฏิบัติตัวให้เหมาะสม โดย ลด เลี่ยง งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 โดยเลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับลักษณะงานหรือกิจกรรมของผู้สวมใส่ มีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้า และหน้ากากต้องได้มาตรฐาน สะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติหรือฉีกขาด ต้องครอบจมูก และปาก
ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นทั้งภายในและภายนอกบ้าน เช่น การเผาในที่โล่งแจ้ง และหมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด เพื่อเป็นการลดฝุ่นในบ้าน และหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที ดังนั้น ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดูแลป้องกันสุขภาพตนเองอยู่เสมอ