ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT : ปัญหาการติดตามคนสูญหาย

อาชญากรรม
26 ก.พ. 64
10:46
857
Logo Thai PBS
The EXIT : ปัญหาการติดตามคนสูญหาย
ปัจจุบันบุคคลสูญหายเกิดขึ้นแทบรายวัน จากหลายสาเหตุ แต่ปัญหาสำคัญของการติดตามคนหาย คือ ฐานข้อมูลบุคคลสูญหาย และศพนิรนาม ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่เชื่อมถึงกัน

หากทดลองใช้คำค้นในสื่อออนไลน์ ว่า "บุคคลสูญหาย" ข้อมูลของคนที่หายตัวไปพบว่า มีจำนวนมากที่ครอบครัว และญาติรอคอยข่าวสาร และความคืบหน้า

แต่เมื่อ ติดตามจากศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นที่รวบรวมข้อมูลของคนหายตัวไป ในแต่ละวันยิ่งพบประกาศหาคนหาย แทบทุกวัน วันละหลายๆเหตุการณ์ และเมื่อรวบรวมข้อมูลคนหาย ตั้งแต่ต้นปีนี้ไม่ถึง 2 เดือน ปัจจุบันมีจำนวนบุคคลสูญหายทั้งหมด 259 คน ผู้ชาย 154 คน และผู้หญิง 105 คน

 

 

น.ส.เสาวรจน์ วชิมาเภท หรือ เปีย อายุ 33 ปี เธอหายไปจากหอพัก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 หรือ เกือบ 4 ปีก่อน

 

 

ประกาศติดตามคนหาย ระบุ รูปพรรณสัณฐาน ว่า น.ส.เสาวรจน์ รูปร่างผอม 

สูง 163 ซม หนัก 45 กก. ผมยาว ปัจจุบันยังไม่พบตัวมีสถานะเป็นบุคคลสูญหาย

TheEXIT พบกับญาติของ น.ส.เสาวรจน์ ซึ่งเธอเป็นพี่สาว เล่าว่า หลังจากน้องสาวหายไปญาติแจ้งความไว้ที่ สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง และได้เก็บดีเอ็นเอของญาติไว้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้ว เพื่อต้องนำไปเปรียบเทียบกับศพนิรนาม แต่ปัจจุบันยังไม่พบตัว หรือ มีดีเอ็นเอ ตรงกับใคร

 

 มีหนังสือจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แจ้งมาว่ายังไม่พบดีเอ็นเอที่ตรงกับศพนิรนาม หลังจากนั้นมา2-3ปี ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาอีกเลย

TheEXIT ย้อนรอยกลับไปที่หอพักของผู้สูญหายในหมู่บ้านนครชัยวิลล่า ซอย 3 จังหวัดปทุมธานี สภาพแวดล้อมสถานที่เกิดเหตุใกล้เคียงจุดที่ญาติ เล่าว่า หายตัวไป จากการสำรวจพบว่าพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีกล้องวงจรปิด ขณะที่คำให้การของพยานแวดล้อมหลายคน ยอมรับว่า รู้จักกับคนสูญหายแต่เล่าถึงรายละเอียดไม่ได้

 

 

ตำรวจภูธรคลองหลวง เรียกสอบพยานไปแล้ว 11 ปาก ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม ขณะที่การตรวจสอบบัญชีธนาคาร ไม่พบความเคลื่อนไหว เช่นเดียวกัน คนหายคดีนี้จึงยังปิดคดีไม่ได้

แม้วิธีการติดตามคนสูญหายด้วยการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากญาติ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับศพนิรนามทั่วประเทศเป็นหนทางเดียวเพื่อยืนยันว่า คนที่หายตัวไป ยังมีชีวิต อยู่หรือไม่ และหายไปด้วยวิธีการใด

แต่ปัญหาของข้อมูลดีเอ็นเอ ศพนิรนามของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้ตรวจสอบได้ยาก และเกิดความล่าช้า

 

 

ถ้ามีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับส่วนของราชการเรื่องการเก็บอัตลักษณ์บุคคล เชื่อว่าจะทำให้กระบวนการค้นหาคนหาย หรือ ศพนิรนาม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

สำหรับขั้นตอนการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลนิรนาม รองผู้บังคับการสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า เมื่อศพมาถึงเจ้าหน้าที่จะนำเข้าห้องเย็น เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อนทำให้ศพเน่าไว

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบบันทึกบาดแผล ว่า เป็นเหตุอาชญากรรม หรือไม่ เมื่อตรวจเสร็จจะนำศพไปย่อยสลายด้วยวิถีการต้มเพื่อคัดแยกกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะบริเวณกระดูกต้นขาเพื่อสกัดดีเอ็นเอตรงนี้
จากนั้นจะนำชิ้นส่วนกระดูกเข้าห้องสกัดดีเอ็นเอ และห้องเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ เพื่อคัดแยกก่อนนำผลตรวจเทียบกับดีเอ็นเอของญาติ ซึ่งในขั้นตอนนี้หากเก็บดีเอ็นเอที่กระพุ้งแก้มจะใช้เวลาพิสูจน์เพียง 1 วัน

 

 

เมื่อประชาชนสงสัยอยากดูศพญาติถามว่าต้องไปกี่ที่ กรุงเทพฯแบ่งออกเป็นหลายพื้นที่ เช่น นิติเวชตำรวจ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี เท่านี้ตรวจสอบกันทั้งวันก็ไม่จบ นี่เป็นปัญหาที่ควรจะมีเจ้าภาพ หรือ รวมศูนย์ข้อมูลเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ

 

จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาย้อนหลัง 4 ปี มีสถิติรับแจ้งคนหาย ของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,575 คน พบ 1,531 คน ติดตาม 44 คน ปี 2562 จำนวน 1,524 คน พบ 1,271 คน ติดตาม 253 คน ปี 2563 จำนวน 1,522 คน พบ 1,139 คน ติดตาม 383 คน และในปี 2564 คนหาย 259 คน พบ 146 คน ติดตาม 113 คน 

  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง