ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : สวนสัตว์สีเทา

สังคม
8 ก.พ. 64
13:56
327
Logo Thai PBS
เปิดปม : สวนสัตว์สีเทา
ผล DNA ซากกระดูกที่พบในกรงเลี้ยงเก้งไม่ใช่เก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่หายไป ไม่มีความสัมพันธ์กับเก้งตัวอื่นในกรง ขณะที่ การตรวจสอบประชากรสัตว์ป่าที่มีอยู่จริงในสวนสัตว์สงขลาไม่ตรงกับรายงานบัญชีสัตว์ป่า นำไปสู่การดำเนินคดีและปรับปรุงระบบสวนสัตว์
เป็นเก้งที่เกิดจากธรรมชาติ แล้วเอามาสวมว่าเป็นกระดูก เพราะวันที่เก้งเผือกตัวแรกหาย ผู้บริหารสวนสัตว์สงขลาไม่ได้แจ้ง สรุปแล้วก็คือจัดฉากแหละ จากผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เราเข้าใจว่าไม่ใช่เก้งเผือก

นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ยอมรับว่า อาจมีการจัดฉากนำซากเก้งจากป่าธรรมชาติ มาสวมเป็นซากเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่สูญหายไปจากสวนสัตว์สงขลา

ผล DNA ชัดไม่ใช่เก้งเผือก

ผลพิสูจน์ดีเอ็นเอ จากศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ระบุว่า ซากกระดูกที่พบภายในกรงเลี้ยงเก้งของสวนสัตว์สงขลา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นเก้ง แต่ไม่ใช่เก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่หายไป และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับเก้งตัวอื่นในกรงเลี้ยง

 

ส่วนซากเก้งที่ถูกงูเหลือมกินที่ถูกพบในกรงเลี้ยงเก้ง เมื่อเดือนกันยายน 2563  ผลดีเอ็นเอจากศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ รายงานว่า เป็นเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทาน หนึ่งในเก้งเผือก 2 ตัวที่หายไป แม้สภาพภายนอกเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นเก้งเผือก แต่การตรวจสอบชั้นโครโมโซมเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า เป็นเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานจริง

 

การตรวจสอบดีเอ็นเอเกิดขึ้น เนื่องจากลูกเก้งเผือก สายพันธุ์พระราชทานของสวนสัตว์สงขลาจำนวน 2 ตัวสูญหาย

มีรายงานว่า เก้งเผือก ชื่อ คุณภูมิ หายไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ส่วนคุณภาค มีรายงานเมื่อเดือนกันยายนว่าถูกงูเหลือมกิน

กรงเลี้ยงเก้งของสวนสัตว์สงขลา เลี้ยงรวมทั้งเก้งธรรมดา และเก้งเผือก

เก้งเผือก 2 ตัวที่หายไป เป็นลูกที่เกิดจากคุณมูมู่ เก้งเผือกเพศผู้ กับ เก้งธรรมดา เมื่อปี 2562 สวนสัตว์สงขลาตั้งชื่อให้ว่า คุณภูมิ กับ คุณภาค

คุณมูมู่เป็นเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นต่อๆมาหลังจากองค์การสวนสัตว์นำเก้งเผือกทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากนั้น สวนสัตว์ดุสิตนำมาเลี้ยง จนได้ลูกเก้งเผือกหลายตัว ก่อนย้ายไปยังสวนสัตว์ต่างๆ รวมทั้งสวนสัตว์สงขลา ปัจจุบันสวนสัตว์สงขลาจึงเหลือคุณมูมู่เพียงตัวเดียว

 

เปิดผลสอบดำเนินงานสวนสัตว์สงขลา

3 ตุลาคม 2563 ขณะผู้บริหารองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ลงพื้นที่สวนสัตว์สงขลาเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานในสวนสัตว์สงขลาหายไป เกิดเหตุยิงนายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยเสียชีวิต ก่อนที่สัตวแพทย์สวนสัตว์สงขลา ผู้ก่อเหตุ จะยิงตัวตายในวันเดียวกัน

ประมาณเกือบ 3 เดือนต่อมา คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ที่ตั้งขึ้นโดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ มีข้อสรุปว่า นายสุริยา แสงพงค์ เดินทางไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีเก้งเผือกสูญหาย พร้อมสั่งโยกย้ายบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีเก้งหายเป็นการชั่วคราวในระหว่างสืบสวน ซึ่งอาจทำให้นายสัตวแพทย์ผู้ก่อเหตุ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความผิดและถูกโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม ประกอบกับไม่มีการชี้แจงเหตุผลให้ทราบล่วงหน้า แต่รับรู้จากข่าววงใน จนทำให้เกิดเรื่องบาดหมาง มีความเครียดนำไปสู่การก่อเหตุ

 

หลังเหตุการณ์เก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานสูญหาย 2 ตัว และเหตุยิงผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานหายไปจากสวนสัตว์สงขลา และการลักลอบค้าสัตว์ป่าในสวนสัตว์ มีนายเฉลิมชัย ปาปะทา ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการ รวม 9 คน ลงพื้นที่สวนสัตว์สงขลา

มีการตั้งอนุกรรมการสอบสวน 2 ชุดโดยให้ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นประธาน กรณีตรวจสอบเก้งเผือกหาย และ ให้นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เป็นประธานคณะอนุกรรมการกรณีตรวจสอบการดำเนินการกิจการภายในสวนสัตว์ รวมถึงคดีการหายไปของสัตว์ป่าอื่นๆ เช่นนกแก้วมาคอว์ 13 ตัว และนอแรดของสวนสัตว์สงขลา

 

ในครั้งนั้นประธานคณะกรรมการฯ ระบุว่า หากผลการตรวจสอบดีเอ็นเอซากกระดูกที่พบในกรงเก้งปรากฏว่า ไม่ใช่เก้งเผือกสายพันธ์พระราชทานตัวที่หายไป จะต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง

ผ่านมาเกือบ 3 เดือน มีข้อสรุปจากคณะอนุกรรมการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีตรวจสอบการดำเนินการกิจการภายในสวนสัตว์ รวมถึงคดีการหายไปของสัตว์ป่าอื่นๆ ระบุว่า การดำเนินกิจการภายในสวนสัตว์สงขลา อยู่ภายใต้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2563 การควบคุมและจัดทำบัญชีสัตว์ ยังแยกส่วนกันทำงานขาดการบูรณาการระหว่างฝ่าย ทำให้การรายงานชนิดและจำนวนสัตว์ป่าไม่สอดคล้องกับจำนวนสัตว์ที่มีอยู่จริง

สัตว์หลายชนิดมีจำนวนมากกว่าบัญชีที่รายงาน ส่งผลต่อปริมาณอาหารเลี้ยงดู มูลค่าสัตว์ที่มีอยู่จริง หรืออาจมีไว้เพื่อจำหน่ายจ่ายโอนสู่ระบบภายนอก

 

ข้อมูลรายงานบัญชีสัตว์ เมื่อเดือนกันยายน 2563 ระบุมีเม่นใหญ่แผงคอยาว จำนวน 4 ตัว แต่มีสัตว์อยู่จริง 15 ตัว นกแก้วเอคเลคตัส รายงาน 9 ตัว แต่ตรวจนับได้ 12 ตัว / หรือในบัญชีสัตว์ป่าไม่พบการรายงานนกเงือกกรามช้าง แต่กลับมีอยู่จริง 2 ตัว นอกจากนี้ยังพบว่ามีงู และเต่าหลายชนิด มีจำนวนมากกว่าที่รายงานไว้ในบัญชีสัตว์ป่า

สัตว์หลายชนิดพันธุ์มีจำนวนน้อยกว่าบัญชีที่รายงาน นอกจากทำให้งบประมาณอาหารสูงเกินความเป็นจริง อาจเป็นเพราะสัตว์หลุดหายหรือถูกลักลอบนำออกไป เช่น เนื้อทราย จำนวนที่รายงานในเดือนกันยายน 2563 ระบุมี 15 ตัว แต่จำนวนที่ตรวจพบคือ ไม่มีอยู่เลย หรือส่วนใหญ่เป็นนกและไก่ฟ้าหลายชนิดพันธุ์

คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯให้ความเห็นว่า จำนวนสัตว์ที่ตรวจนับทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ตรงกับบัญชีสัตว์ป่าที่สวนสัตว์สงขลานำส่งองค์การสวนสัตว์ในแต่ละเดือน และ เกือบทุกชนิดยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ในความเห็นยังระบุว่า การรับบริจาคหรือจัดหาสัตว์จากธรรมชาติ จะต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งสัตว์ป่าที่ถูกต้อง มีระบบการคัดกรองสัตว์บริจาคอย่างรัดกุม มิฉะนั้นสัตว์ที่มีอยู่จริงจะมีจำนวนมากกว่าที่รายงานในระบบ ซึ่งบางชนิดพันธุ์หากสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ จะมีความเสี่ยงต่อการจำหน่าย จ่าย โอนสู่ภายนอกโดยควบคุมไม่ได้ ยากต่อการติดตามและตรวจสอบ ไม่ต่างจากการฟอกสัตว์

ปรับปรุงระบบสวนสัตว์ลบข้อครหา

นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมา ทุกสวนสัตว์รายงานจำนวนประชากรสัตว์ทุกวันที่ 25 ของเดือน อาจทำให้จำนวนคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่การเกิดนับจำนวนได้ยาก และตายง่ายจากปัจจัยคุกคาม ปัจจุบันจึงเปลี่ยนรูปแบบการรายงานให้แจ้งเกิดแจ้งตายภายใน 48 ชั่วโมง

ให้รายงานทุก 48 ชม.เพื่อให้มันตรงกัน ต้องทำให้ทุกอย่างให้เรียลไทม์ที่สุด ตอนนี้มีคนบริจาคสัตว์ให้เราเลี้ยงอีก ก็ต้องนับเข้าบัญชีสัตว์ว่ามีเท่าไร ที่เราตรวจไม่ได้คือสัตว์ปีก ไข่ที่อยู่ในท้องเรานับไม่ได้ว่าจะคลอดออกมาเท่าไร ฟักได้กี่ตัว มันถึงมีกรณีนกแก้วมาคอว์หายบ่อย 

นายวันชัย ตันวัฒนะ รักษาการแทนผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา บอกว่า ปัจจัยคุกคามของสัตว์ปีก อันดับแรกคืองู รองลงมาคือ ลิงในธรรมชาติ ที่มักแหวกกรงตาข่ายเข้ามาหากินอาหารของสัตว์ จนเป็นช่องทางให้งูเข้ามาได้ด้วย งานซ่อมแซมจุดชำรุดและปรับปรุงความแข็งแรงกรงเลี้ยงภายในสวนสัตว์สงขลาจึงเป็นภารกิจสำคัญลำดับแรกๆ หลังจากรับตำแหน่งรักษาการแทนผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา

 

ขณะนี้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย แจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกรงเก้ง 1 คน ข้อหาลักทรัพย์ อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม พร้อมกับมีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกรงเลี้ยงเก้งคนดังกล่าว รวมถึงผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลาในขณะนั้นออกนอกพื้นที่ชั่วคราวและสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง