วันนี้ (6 ก.พ.2564) อาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนแป้นรักษา เขตหนองแขม จัดเตรียมอาหาร 3 มื้อ ปรุงตามหลักโภชนาการสำหรับเด็กวัย 2 ขวบครึ่ง - 6 ขวบ เสริมด้วยนมกล่อง และแบบฝึกหัดกระตุ้นทักษะ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ให้ผู้ปกครองมารับ นำกลับไปให้ลูกหลาน
วิธีการนี้เป็นเพียงไม่กี่วิธี ที่ทำให้ผู้ดูแลยังคงติดตามพัฒนาการและเฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กทั้ง 69 คน ช่วงที่ศูนย์ฯ ยังต้องปิดยาวแบบไม่มีกำหนดจากสถานการณ์ COVID-19 ที่บังคับให้การดูแลและส่งเสริมเด็กเล็กต้องกลับไปอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองทั้งหมด แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่แบกรับได้เต็มที่ เพราะต่างมีข้อกำจัด
อีกไม่กี่เดือน ลูกชายคนเดียวของประเสริฐ พัดไทสง ผู้ปกครองเด็กเล็กถึงเกณฑ์ต้องขึ้นชั้น ป.1 ใช้พื้นที่เล็กๆ ในโรงหล่อโลหะอยู่ร่วมกันกับลูกได้ช่วงที่ศูนย์เด็กเล็กปิด พร้อม ๆ กับรับจ้างรายวันเลี้ยงชีพ แต่ก็อาจไม่เพียงพอ สำหรับเตรียมความพร้อมเด็กชาย ก่อนเข้ารั้วโรงเรียน
ทั้งนี้ คำสั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กใน 8 เขตกรุงเทพมหานครแบบไม่มีกำหนด ทำให้ด้านหนึ่งเด็กปฐมวัยกลายเป็นกลุ่มเปราะบางต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นต้องการแผนรองรับที่มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
การติดเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มเด็กเล็ก เป็นความเสี่ยงที่มักถูกอ้างถึงเมื่อมีคำสั่งปิดสถานรับเลี้ยงและศูนย์เด็กเล็ก หากช่วงเวลาทองของการพัฒนาต้นทุนชีวิต ที่ต้องหยุดไปก็เป็นความเสี่ยงอีกด้านที่ถูกเรียกร้องให้ชั่งน้ำหนักและมีแผนเชิงรุก เมื่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปล่อยผ่านและรอเวลาไม่ได้