ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : กลลวง ทวงโหด แอปฯ เงินกู้ ตอน 1

เศรษฐกิจ
10 ธ.ค. 63
17:48
16,857
Logo Thai PBS
THE EXIT : กลลวง ทวงโหด แอปฯ เงินกู้ ตอน 1
ระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. - ธ.ค.มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือจากกลุ่ม "ช่วยเหลือเหยื่อแอปพลิเคชันเงินกู้" เพิ่มขึ้นกว่า 6,000 คน และยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

สภาวะตอนนั้นเหมือนเราต้องการเงินมาก ทำเสร็จได้เงินเลย ไม่คิดว่าจะถูกตามทวงขนาดนี้

ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากแอปพลิเคชันเงินกู้ส่วนใหญ่ถูกข่มขู่คุกคามทวงหนี้โหด ในลักษณะการดึงข้อมูลส่วนตัวจากโทรศัพท์มือถือ มาโพสต์การประจานให้อับอาย และยังพบด้วยว่ามีการดึงข้อมูลผู้ติดต่อในมือถือส่งข้อความทวงหนี้ไปหายังบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ลูกหนี้นำชื่อมาใช้เป็นบุคคลอ้างอิงค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งทั้งหมดเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย

เราเข้าถึงแหล่งเงินกู้ แต่ว่าการกู้จะทำยากกว่า คืออันนี้ เพื่อนแนะนำ โดยทำเรื่อง 1 ชม.เสร็จเรียบร้อยเงินก็เข้าเลย เหมือนเราต้องการด่วนเขาก็โอนเงินให้เราได้เลย

 

หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกทวงหนี้ ในลักษณะคุกคาม และประจานให้อับอาย จากแอปพลิเคชันเงินกู้แห่งหนึ่ง เธอมีความต้องการใช้เงินจำนวน 3,000 บาท เพราะสถานการณ์ COVID-19 ทำให้แฟนตกงาน ขาดรายได้ หมุนเงินไม่ทัน เธอจึงตัดสินใจค้นหาแหล่งเงินด่วนในอินเทอร์เน็ต และหลังจากนั้นไม่กี่นาที เธอก็ได้รับ SMS หรือข้อความ ลักษณะคล้ายโฆษณาแนะนำลิงก์สำหรับกู้เงินด่วน เธอบอกว่า ได้กดเข้าไปและสมัครในทันที

ตอนแรกคิดว่ามันอยู่ในเพลย์สโตร์ มันเป็นลิงก์ที่ส่งมา มันไม่น่าจะเป็นอะไรที่ร้ายแรง หรือ ผิดกฎหมาย หรือน่ากลัวแบบนี้ ไม่ได้คิดอะไรเลย จึงไม่ได้มีการเก็บข้อมูลหรือเซฟตัวเองเลยเบื้องต้น 

ขั้นตอนในการใช้แอปพลิเคชันเงินกู้ เริ่มต้นจากกรอกข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ บัตรประจำตัวประชาชน และข้อมูลผู้ติดต่อ กรณีตามตัวผู้กู้ไม่ได้ จำนวน 2 รายชื่อ ที่สำคัญมีการขอเข้าถึงข้อมูลรูปภาพและรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือทั้งหมด โดยเธอไม่ได้สงสัยหรือมีคำถามเลยว่า การอนุญาตเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จะนำมาสู่การคุกคามในภายหลัง

 

 

ข้อมูลยอดกู้คงค้าง ระบุจำนวนเงิน 3,000 บาท จำนวนวันล่าช้า 112 วัน จำนวนเงินที่ต้องชำระคืน 3,659 บาท แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกต ว่า "แอปพลิเคชันเงินกู้" มีพฤติกรรมอำพรางดอกเบี้ยหรือไม่ คือ หลังจากอนุมัติเงินกู้ 3,000 บาท ผู้กู้จะได้รับโอนเงินจริงเพียง 1,700 บาทเท่านั้นโดยเงินจำนวน 1,300 บาท ถูกหักเป็นค่าบริการและดำเนินการโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน โดยมีกำหนดชำระ 7 วัน ในยอดเงินกู้เต็ม 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด

 

ผู้กู้รายนี้ ระบุว่า เมื่อถึงกำหนดชำระ มีบุคคลอ้างตัวเป็นฝ่ายติดตามหนี้ ติดต่อเข้ามาทวงยอด แต่เมื่อเธอเจรจาขอแบ่งจ่าย เพราะหาเงินได้ไม่ครบตามจำนวน กลับถูกปฏิเสธ พร้อมข่มขู่ และในช่วงเย็นวันเดียวกัน เริ่มมีปฏิบัติการก่อกวนไปยังรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือและสั่งของส่งไปถึงสถานที่ทำงาน

บอกเขาว่าขอจ่ายครึ่งนึงก่อนได้มั้ยในวันพรุ่งนี้และสิ้นเดือนอีกครึ่งหนึ่ง เขาบอกว่าไม่ได้เพราะตอนโอนก็โอนให้ทันทีที่ทำเรื่อง และเขาก็บอกว่าวันนี้ก็เตรียมวุ่นวายได้เลย ตอนนั้นคิดแค่ว่าส่งข้อความ โทรหาแม่ โทรหาแฟน โทรหาญาติ ไม่ได้คิดว่าเป็นการโทรสั่งของมา 

ทีมข่าวติดต่อไปยังศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ข้อมูลว่า "แอปพลิเคชันเงินกู้" ผิดกฎหมาย สังเกตได้ตรงที่มักจะไม่มีชื่อบริษัทระบุ แต่ใช้เป็นชื่อบุคคลในการโอนเงิน รวมถึงดอกเบี้ยที่อำพรางมาในรูปแบบค่าบริการ ที่เมื่อนำมาคำนวณแล้วเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด และมักจะนำมาสู่ปัญหาการทวงหนี้ผิดพระราชบัญญัติการทวงหนี้ในภายหลัง
สอดคล้องกับข้อมูลที่ทีมข่าวได้จาก "ผู้เดือดร้อน" ว่าบัญชีที่มีการโอนเงินกลับไป เป็นชื่อ "บุคคล" แทบทั้งสิ้น

 

แอดมินกลุ่มช่วยเหลือเหยื่อแอปพลิเคชันเงินกู้ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.จนถึงต้นเดือน ธ.ค.มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการข่มขู่คุกคามจากแอปพลิเคชันเงินกู้เข้ามาติดตามและขอความช่วยเหลือเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมกว่า 6,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการดึงข้อมูลส่วนตัวในมือถือไปประจานสร้างความอับอาย พร้อมส่งข้อความไปทวงกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างผู้กู้กับบุคคลรอบข้างปัญหามาจาก ผู้กู้มักเข้าใจว่า "แอปพลิเคชันเงินกู้" เป็นแหล่งเงินกู้ถูกกฎหมาย ทำให้ตัดสินใจกู้ง่ายและไม่มีการระมัดระวังตัว

เขาเข้าใจว่าการโหลดแอปพลิเคชันพวกนี้ มาจากเพลย์สโตร์ คือเป็นความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง ตามความเข้าใจของชาวบ้าน ซึ่งมันจะมีโฆษณาว่ากู้ได้วงเงินเท่านี้ถึงเท่านี้ เพราะบางครั้งไม่ได้มีบอกว่ากู้ได้เท่าไหร่ จะได้รับจริงเท่าไหร่ จะรู้ก็ต่อเมื่อทำเรื่องเข้าไปแล้ว และเวลาขึ้นโชว์ดอกเบี้ยในรายการ จะโชว์ให้ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด แต่ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มันแพงกว่าค่าดอกเบี้ยเยอะมาก ถามว่าทุกคนรู้มั้ย รู้ แต่ติดตรงที่ว่าเราหาคนผิดตรงนั้น มารับโทษไม่ได้ 

ข้อมูลจากกลุ่มช่วยเหลือเหยื่อแอปพลิเคชันเงินกู้ ยังพบว่า แหล่งเงินที่เข้ามาดำเนินการส่วนใหญ่เป็นแหล่งเงินข้ามชาติ อย่างเช่น จีน และมาเลเซีย มีคนไทยเป็นนอมินีในการจดทะเบียนแอปพลิเคชัน บางรายมีการเปิดกิจการประเภทอื่น เข้ามาอำพรางการปล่อยเงินกู้ เช่น ให้สั่งซื้อสินค้าโดยไม่ได้รับสินค้าตามราคานั้น ๆ จริง แต่ทำเพื่อให้เกิดสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น

 

"แอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับ มักจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มและเปิดแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมาดำเนินการในลักษณะเดิม เห็นได้ชัดว่า จำนวนผู้เดือดร้อนที่มากขึ้น มักไม่เข้าใจว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้ เป็นแหล่งเงินกู้ผิดกฎหมาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง