ที่นากว่า 20 ไร่ ของนายไสว อุ่นชัย ชาวบ้าน หมู่ 10 ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ แปลงนี้ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ ปัจจุบันยังปลูกข้าวเป็นประจำทุกปี ฤดูเก็บเกี่ยว จะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้อยู่พร้อมหน้า กลับมาช่วยกันเกี่ยวข้าว ไม่ต้องออกไปขายแรงงาน นี่คือ ชีวิตในรูปแบบที่นายไสว เรียกว่าความสุข
การยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว ของบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด รอบที่ 2 ในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่นา ทำให้นายไสว ค่อนข้างกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ
นายไสว อุ่นชัย
ชาวบ้านกลุ่มนี้นำสำรวจแนวหลักเขตสีแดง คือพื้นที่ยื่นขอประทานบัตรของบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด พื้นที่กว่า 40 ไร่ ซึ่งเคยถูกร้องเรียนให้อุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ เข้ามาตรวจสอบกรณีลักลอบขนทรายนอกพื้นที่ เข้าไปในแปลงยื่นขอประทานบัตรว่าเข้าข่ายการทำเหมืองแร่หรือไม่ แต่การตรวจสอบครั้งนั้น สรุปว่าไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดได้
เรียกร้องตรวจสอบ หลังมีตาน้ำอยู่หลายแห่ง
ด้วยพื้นที่คำขอประทานบัตรอยู่ใกล้กับที่นาและแหล่งน้ำ ซึ่งนายเส็ง เนินสนิด ชาวบ้าน ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่ามีตาน้ำอยู่หลายแห่ง กลายเป็นอีกประเด็นที่ชาวบ้านเรียกร้องให้อุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ เข้ามาตรวจสอบ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาคำขอประทานบัตร
นายเส็ง เนินสนิด
The EXIT ติดต่อไปยังตัวแทนบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด ได้รับการยืนยันว่าได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วรอบใหม่ในพื้นที่เดิมจริง โดยเป็นการทำเหมืองแร่ประเภทที่ 1 ชนิดแร่ทรายแก้ว โดยวิธการทำเหมืองแบบหาบ ซึ่งจะเป็นการขุดดินในลักษณะขั้นบันได ความสูงแต่ละชั้นไม่เกิน 3 เมตร กว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ความลึกของขุมเหมืองสูงสุด 9 เมตร ระยะเวลา 20 ปี ในรายงานประกอบคำขอประทานบัตร ระบุ มาตรการควบคุมป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ต้นเดือนพฤศจิกายน นายวรชาติ อาจสม ตัวแทนบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อให้ข้อมูลเรื่องเหมืองแร่ทรายแก้วกับคนในพื้นที่ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการเข้าร่วมเวที ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากชาวบ้านกลุ่มไม่เห็นด้วย
หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเชื่อไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม
หญิงคนนี้ เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมเวที ระบุว่า มีการให้ข้อมูลว่าเหมืองแร่ทรายแก้ว ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนโดยรอบ เป็นการใช้น้ำเปล่าในการแต่งแร่ไม่ปล่อยออกสู่ชุมชน เธอจึงมั่นใจว่า จะไม่ส่งผลกระทบ
การจัดเวทีสาธารณะเพื่อให้ข้อมูล โดยบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด ถูกตั้งข้อสังเกตจาก น.ส.ณัฐพร อาจหาญ ผู้ประสานงานกลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ ว่าเป็นการให้ข้อมูลในมุมที่บริษัทได้ประโยชน์ ไม่ครอบคลุมผลกระทบด้านลบ อีกทั้งการยื่นประทานบัตรซ้ำในพื้นที่เดิมที่เคยพบพฤติกรรมจงใจนำทรายแก้วนอกแปลงประทานบัตรเข้ามาไว้ในแปลงประทานบัตร ก็ยังเป็นประเด็นที่ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน
น.ส.ณัฐพร อาจหาญ
สำหรับขั้นตอนการยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว ตามคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ประเภทที่ 1 หลังจากนี้จะเข้าสู่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และหากยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จะต้องทำประชามติอีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง