ทับหรือที่พักของนายแอ๊ด ศรีมะนัง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล มีชาวมานิ อาศัยอยู่รวมกันมากกว่า 50 คน
นายแอ๊ด บอกว่า ทุกวันนี้ พวกเขาแทบไม่ได้ออกไปรับจ้าง เพราะชาวมานิที่นี่บริหารเงินและสวัสดิการต่างๆ ที่ได้มาพร้อมกับสัญชาติไทย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด มาใช้จ่ายภายในทับ นอกจากนี้ นายแอ๊ดยังมีรายรับจากเงินเดือนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.
ส่วนลูกๆของชาวมานิในทับนี้ เรียนภาษาไทยและเลขในช่วงเสาร์ อาทิตย์เท่านั้นด้วยเหตุนี้ พ่อและแม่ชาวมานิจึงพาลูกๆ เข้าป่าได้เกือบทุกวัน พร้อมกับเรียนรู้วิถีของพวกเขา
ยังใช้วิถีชีวิตแบบเดิม ไมได้เปลี่ยนแปลง ตอนเช้าตื่นมาก็ล่าสัตว์ ขุดเผือก ขุดมันเหมือนเดิม
ความมั่นคงทางอาหาร คือเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับชาวมานิไม่นานมานี้ ชาวมานิ 29 คนจากบ้านวังคราม ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร ตัดสินใจย้ายมาอยู่กับทับนายแอ๊ด เพราะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ไม่มีข้าวสาร
ไทยพีบีเอส พบว่า ชาวมานิกลุ่มนี้ได้รับการสำรวจให้ทำบัตรประชาชนและรับรองสิทธิในสัญชาติไทยไปตั้งแต่ปี 2560 ตามคำสั่งกรมการปกครองปี 2553 เรื่องแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของชาวมานิ แต่จนถึงวันนี้ พวกเขายังตกอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ทั้งที่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย และมีสิทธิในสัญชาติไทยตั้งแต่เกิด เฒ่าดำ ชาวมานิ บอกว่า
ไม่มีบัตรประชาชน หลายคนที่นี่ก็ยังไม่มี อำเภอไม่มีใครมาติดต่อ
พวกเขาต้องการมีบัตรประชาชนเหมือนชาวมานิคนอื่น โดยเฉพาะสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด คนชรา และคนพิการ เพื่อนำมาจุนเจือชาวมานิในทับ จากสภาพขาดแคลนอาหารและรายได้
มานิ เป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิม และเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม การที่ทอดทิ้งไม่ดูแล และไม่ให้เข้าถึงบัตรประชาชน ถือเป็นการทอดทิ้งไม่ให้เข้าสู่สวัสวดิการสัคมของไทยแทบทุกมิติ เพราะต้องยอมรับว่าสวัสดิการทุกอย่างวิ่งเข้ามาหาจากเลขบัตรประชาชน
น.ส.ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงปัญหา
นอกจากนี้อีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ที่ยังอยู่ในสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติเช่นกันคือ ชาวจาไฮ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โอรังอัสลี ซึ่งอยู่ในพื้นที่จ.ยะลา และจ.นราธิวาส
ล่าสุดนายทะเบียนของอำเภอเบตง จ.ยะลา เริ่มซักประวัติ และทำผังเครือญาติให้กับชาวจาไฮในตำบลอัยเยอร์เวง จำนวน 68 คน เพื่อทยอยรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้กับพวกเขา หลังจากท้องที่พยายามผลักดันเรื่องนี้มานานกว่า 3 ปี
พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง จ.ยะลา บอกว่า ในพื้นที่อ.เบตง เพิ่งค้นพบว่ากลุ่มจาไฮ ปักหลักในชุมชนถาวร 2 กลุ่มคือ บ้านนากอ และบ้านอัยเยอร์ควีน ต.อัยเยอร์เวง
ขณะที่ น.ส.ศิวนุช ให้ความเห็นว่า ผ่านมา 10 ปีแล้วตั้งแต่กรมการปกครองมีคำสั่งให้นายอำเภอทุกอำเภอแก้ไขสถานะบุคคลชาวมานิและจาไฮ แต่ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์กลับยังตกอยู่ในสถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เธอตั้งคำถามว่า หากกรมการปกครองจากส่วนกลางมีนโยบายที่ดีแต่นายทะเบียนในท้องที่ ยังขาดความเข้าใจงานด้านนี้ จะดีกว่าหรือไม่ หากกำหนดคุณสมบัตินายทะเบียนในทุกอำเภอที่มีชาวมานิและจาไฮอาศัยอยู่ต้องเข้าใจงานแก้ไขสถานะบุคคลของทั้งสองชนเผ่า
ถ้าติดตามผลการทำงานอาจจะช่วยกระตุ้นให้การบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น แต่หากปล่อยให้คนที่ไม่มีความรู้ ทัศนคติไม่ดี หรือร้ายสุดคือทุจริตคอรัปชัน แม้ว่านายกรัฐมนตรี จะประกาศตัวต่อเวทีสหประชาชาติในเรื่องสิทธิมนุษชน ความเป็นจริงก็ทำอะไรไม่ได้
ปัจจุบัน ชาวจาไฮ วัยแรงงานเกือบทั้งหมดหันมาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่ได้ใช้ชีวิตเร่ร่อนในป่าตามวิถีสังคมหาของป่าล่าสัตว์เช่นเดิมเนื่องจากพื้นที่หาอาหารลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2 จากพื้นที่ป่าทั้งหมด ผศ.บัณฑิต ไกรวิจิตร นักมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มอ.วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า สิ่งสำคัญคืออาหารประเภทแป้ง ชาวบ้านกลุ่มนี้กินหัวมัน ที่จะพบในที่ราบ ยิ่งพื้นที่สูงก็มีน้อย สอดคล้องกับการแปลภาพถ่ายทางอากาศพบว่ามีพื้นที่ที่ราบมีไม่เกิน 2% หมายความว่าพื้นที่จะหากินก็หดตัวแคบลง และอยู่ในพื้นที่สูง
คาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีประชากรชาวจาไฮประมาณ 400 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.ยะลา และนราธิวาส