กรณีชาวบ้านแจ้งพบโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่ในพื้นที่ ต.อำแพงอ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ในบ่อดินของเอกชน เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.2563) กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายทินกร ทาทอง ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 กล่าวว่า ซากกระดูกที่พบคือซากฟอสซิลของวาฬ ลักษณะถูกทับถมโดยธรรมชาติในชั้นตะกอนดินเหนียวกรุงเทพ ในระดับความลึกประมาณ 6 เมตร เริ่มมีการแปรสภาพบางส่วน และพบเปลือกหอยรวมอยู่ด้วย ลักษณะชิ้นกระดูกที่พบเป็นกระดูกสันหลังค่อนไปทางหาง วางตัวในแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก พบกระดูก 7 ท่อน แต่ละท่อนมีขนาดกว้าง 25 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร คาดซากวาฬน่าจะมีความยาวประมาณ 15 เมตร ซึ่งนักธรณีวิทยา จะต้องขุดเปิดหน้าดินรอบๆพื้นที่ทั้งหมดก่อนถึงจะรู้ว่ามีซากฟอสซิลเพิ่มหรือไม่
ถือเป็นซากฟอสซิลวาฬชิ้นแรกที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในภาคกลาง เพราะที่ผ่านมาจะเจอแค่ชิ้นส่วนเล็กๆ และจากประเมินชั้นดินเหนียวจุดนี้ ทะเลถอยร่นมาอยู่ในช่วงอายุมากกว่า 1,000 ปี ดังนั้นซากนี้ต้องแก่กว่าคาด 1,000 -6,000 ปี
ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี
ยืนยันหลักฐานภาคกลางเคยเป็นทะเล
ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 กล่าวอีกว่า การเจอซากวาฬโบราณในจุดนี้ นอกจากจะเป็นการยืนยันหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าที่ราบลุ่มภาคกลางเคยเป็นทะเลโบราณ หลังจากก่อนหน้าเคยพบเปลือกหอยนางรม และชิ้นส่วนฟันปลาฉลาม แต่ครั้งนี้เจอซากวาฬขนาดใหญ่ เบื้องต้นเจอโครงกระดูกถึง 7 ท่อน ตอนนี้ต้องร่วมกันเก็บกู้ซากและนำมาอนุรักษ์ โดยต้องทำให้อยู่ในสภาพที่สัมผัสอากาศได้ เพื่อไม่ให้เสียหาย รวมทั้งต้องขึ้นทะเบียนอยู่ในบัญชีพ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2553
ต้องทำงานอย่างระมัดระวัง เพื่อให้การกู้ซากวาฬโบราณมีความสมบูรณ์ และไม่เสียหาย เพราะต้องนำมาเก็บรักษาและขึ้นทะเบียนภายใต้ทำตามพร.บ.คุ้มรองซากดึกดำบรรพ์ รวมทั้งต้องิวจัยต่อว่าเป็นวาฬชนิดไหน
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี มีแผนเร่งดำเนินการเก็บกู้และทำการอนุรักษ์ตัวอย่าง เนื่องจากมีการผุพังสูงโดยการขุดตัวอย่าง เข้าเฝือก และขนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี เพื่อการเตรียมตัวอย่างในห้องปฏิบัติการและศึกษาวิจัย ต่อไป
ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี
เก็บตัวอย่าง ศึกษาอายุโครงกระดูกวาฬสมุทรสาคร
ขณะที่ศูนย์วิจัยทช. อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ได้เข้าตรวจสอบและวางแผนการปฏิบัติงานภาคสนามโครงกระดูกวาฬ ผลการตรวจสอบพบว่าโครงกระดูกนี้มีลักษณะสภาพกึ่งซากดึกดำบรรพ์ (semi fossil) โดยสภาพพื้นที่โดยรอบเป็นดินเหนียว และมีเศษเปลือกหอยปะปนจำนวนมาก โครงกระดูกนี้เป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์สามารถนำข้อมูลต่างๆ มาศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทะเล สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศในอดีต โดยกรมทรัพยากรธรณีได้เก็บข้อมูลพื้นที่ ชั้นดิน เก็บกู้โครงกระดูก และเก็บตัวอย่างศึกษาอายุของโครงกระดูก ส่วนทช.จะศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม เพื่อตรวจสอบชนิดของวาฬ
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
คาดว่าการขุดและเข้าเฝือกกระดูกเป็นส่วนๆได้ 1 เมตร ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 วัน เพื่อป้องกันความเสียหาย และจะนำไปเก็บรักษาในห้องที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตะลึง! พบกระดูกวาฬโบราณที่บ้านแพ้ว คาดจุดพบเป็นทะเลมาก่อน