สภาพป่าบริเวณฐานพิทักษ์ป่ามังจา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เป็นหนึ่งในป่าชายแดนไทย-กัมพูชาที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีไม้พะยูงในธรรมชาติหลายพันต้น การสำรวจและลงทะเบียนในแต่ละปีจึงมีความสำคัญ เพราะยังพบกลุ่มชาวกัมพูชาลักลอบเข้ามาตัดไม้อย่างต่อเนื่อง
ปะทะขบวนการลอบตัดไม้พะยูง
เหตุการณ์ครั้งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา กองกำลังชุดเฉพาะกิจทหารพราน กับกองกำลังติดอาวุธที่คุ้มกันคนขบวนการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ฝั่งไทย ความเสี่ยงเกิดขึ้นทั้งจากอาวุธปืน และกับระเบิดจำนวนมาก การปฏิบัติหน้าที่จึงต้องใช้ความระมัดระวัง
ตอนที่จับไม้เคสก่อนเป็นไม้พะยูงขนาดเล็ก จะตัดแล้วถาก ต้นหนึ่งได้แค่ท่อนเดียวก็เอา เป็นไม้สด แต่ละบางพื้นที่ ทางโน้นจะเป็นไม้ใหญ่ ไม้มะค่า และจะมีกลุ่มติดอาวุธหนักคอยคุ้มกัน
รังษี ธรรมะ พนักงานพิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา
จัดเวรยาม 3 ผลัด ป้องกันตัดไม้
การลักลอบตัดไม้พะยูงขยายเข้าสู่พื้นที่ของวัด โรงเรียน และชุมชน มากขึ้น เมื่อไม้ในป่ามีมาตรการดูแลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะบริเวณวัดป่าหนองม่วง ต.หนองครก อ.เมืองศรีสะเกษ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ จะมีเวรยามจากคนในชุมชนวันละ 3 คน และตำรวจภูธรเมืองศรีสะเกษ อีก 2 คนเข้ามาดูความเรียบร้อยทุกคืน และเตรียมพร้อม หากเกิดสถานการณ์รุนแรง
แต่ก่อนไม่ได้คิดอะไร แต่พอมีเรื่อง มีการมาตัดไม้พะยูงตรงศาลาใหญ่กับรอบนอก มีมาทั้งกลางคืนและกลางวัน มีรถใหม่ไม่ติดป้ายทะเบียนวิ่งมาแล้วจอด หยุดและวิ่งไปแล้วหยุด เหมือนดูว่าไม้พะยูงอยู่ตรงไหน
พระบุญมี เตชะธัมโม ประธานที่พักสงฆ์หนองม่วง
สถานการณ์กลับมารุนแรงอีกครั้ง
สถานการณ์ลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่จังหวัดตามแนวเทือกเขาพนมดงรักทั้งศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี กลับมารุนแรงอีกครั้ง เพราะนายทุนทั้งจากประเทศลาว และกัมพูชาได้รับออเดอร์จากประเทศจีนจำนวนมาก ทำให้ขบวนการนี้พร้อมจ่ายสินบนทุกหน่วยงาน เพื่อส่งไม้ออกนอกประเทศ
ที่สามารถจับกุมได้เป็นการโอนเงินผ่านบัญชี ส่วนที่ยังจับไม่ได้เพราะรับเงินสด เพราะฉะนั้นกลุ่มคนพวกนี้เป็นกลุ่มคนที่อำนวยความสะดวก และอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกออกจากราชการไปแล้ว
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี)
เส้นทางสำคัญใช้ส่งออกไม้พะยูง
ขบวนการค้าไม้พะยูงข้ามชาติจะใช้ถนนสาย 24 โชคชัย-เดชอุดม เป็นเส้นทางหลักทั้งเป็นจุดรวบรวมไม้เพื่อส่งออก ซึ่งบางส่วนส่งออกไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพฯ และอีกส่วนส่งข้ามแม่น้ำโขงเพื่อลำเลียงบนเส้นทางหมายเลข 13 ของประเทศลาวก่อนส่งขายประเทศจีน โดยเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวังชายแดนริมแม่น้ำโขง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ที่พบความถี่ในการลักลอบส่งออกมาขึ้น การลาดตระเวนทางเรือตามจุดเสี่ยง จึงมีความจำเป็น
ช่องทางสามารถลงได้ตามตลอดแนวแม่น้ำโขงสำหรับสิ่งผิดกฎหมาย สิ่งที่ดีที่สุดคือเรื่องการข่าว เราต้องมีการข่าวที่ดี เพราะว่าจะใช้เรือหรือกำลังคนไปลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำ จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมาก จะไม่คุ้มค่าต่อการปฏิบัติ
น.อ.ณัฐวัชต์ วิชกูล ผบ.นรข.เขตอุบลราชธานี
เครือข่ายใหญ่มีมากกว่า 100 คน
ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในภาคอีสาน เป็นเครือข่ายใหญ่มีกลุ่มบุคคลเกี่ยวข้องมากกว่า 100 คน ครอบคลุมทุกจังหวัดภาคอีสาน และกฎหมายที่เปิดช่องให้ซื้อขายได้ แต่ห้ามส่งออก ทำให้มีขบวนการรวบรวมไม้ในประเทศ เพื่อลักลอบส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน หรือบางส่วนนำไม้พะยูงเถื่อนมาสวมตอในแปลงกรรมสิทธิ์ เพื่อหลอกขายบุคคลอื่นเช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง