วันนี้ (21 ต.ค.2563) จากกรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญา ระงับหรือปิดช่องทางออนไลน์การเผยแพร่ของสำนักข่าววอยซ์ทีวีทุกช่องทาง หลังจากพบว่ามีการนำเสนอข้อมูลที่ขัดต่อกฎหมายและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลังจากการไต่สวนทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลเห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายคือคุ้มครองเรื่องการแสดงออกความคิดเห็นมิใช่มุ่งประสงค์ปิดช่องทางการสื่อสาร ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 35 และ มาตรา 36 บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อริดรอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร โดยการตีความการกระทำผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นก็ต้องให้สอดคล้องกับบทรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
นอกจากนี้ ยังให้ยกเลิกคำสั่งเดิมของศาลที่เคยสั่งระงับช่องทางการเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ร้องให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลไม่รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้องและเข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล ซึ่งคำสั่งนี้รวมถึงสื่ออื่นอีก 4 สำนัก ได้แก่ ประชาไท The reporters The Standard และเยาวชนปลดแอก-Freeyouth ด้วย
ขณะที่ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เปิดเผยว่า คำร้องของกระทรวงดีอีเอสจะทำได้ต้องมีการเฉพาะเจาะจงไม่ใช่เป็นการปิดทั้ง URL เนื่องจากเกินกว่าที่กฎหมายคุ้มครอง โดยช่องทางใดนำเสนออะไรก็ผิดแค่ส่วนนั้น ไม่ได้ปิดทั้งหมด
นายวิญญัติ ระบุอีกว่า ในการไต่สวนได้มีการยกเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ขึ้นมาก่อน ซึ่งกระทรวงดีอีเอสอยู่ระหว่างกำลังตั้งคณะกรรมการและเห็นว่าเป็นการข้ามขั้นตอน ฉะนั้นการมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ขอสื่อในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือว่าเป็นการข่มขู่สื่อและประชาชน ซึ่งรัฐควรดำเนินการตามความเหมาะสม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วน! ศาลมีคำสั่งปิด VOICE Online ไลฟ์ชุมนุม
นายกฯ สั่ง ตร.ทบทวนคำสั่งปิดสื่อ เว้นเสนอข้อมูลเท็จ - ปลุกปั่น
ศาลนัดฟังคำสั่งปิดช่องทางออนไลน์ "VOICE TV" บ่ายนี้