ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใครถูกจับกุม-ดำเนินคดีข้อหาใดบ้าง 13-15 ต.ค.นี้

การเมือง
16 ต.ค. 63
10:58
5,914
Logo Thai PBS
ใครถูกจับกุม-ดำเนินคดีข้อหาใดบ้าง 13-15 ต.ค.นี้
เฟซบุ๊ก iLaw เผยแพร่ข้อมูลประมวลการจับกุม-ดำเนินคดี ม็อบคณะราษฎรช่วงวันที่ 13-15 ต.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบมีแกนนำและมวลชนถูกจับไปแล้ว 45 คน ส่วนใหญ่โดนข้อหายุยงปลุกปั่นฯ (ป.อาญา ม.116) นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

วันนี้ (16 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก iLaw ได้เผยแพร่ข้อมูลประมวลการจับกุม-ดำเนินคดี ม็อบคณะราษฎร ตั้งแต่วันที่ 13-15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีผู้ชุมนุม และผู้จัดการชุมนุมอย่างน้อย 45 คน ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี หลังจัดการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับบริเวณถนนข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการจับกุมในกรณีดังกล่าวเป็นความพยายามในการสลายการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร"

โดยมีการใช้ทั้งข้อหา หมายเรียก และหมายจับทั้งคดีใหม่เก่ามาบังคับใช้กับกลุ่มแกนนำผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุม อีกทั้ง แกนนำและผู้ชุมนุมหลายคนก็ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

จับวันแรก มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี อย่างน้อย 21 คน 

โดยเหตุการณ์จับกุมรอบแรก เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.หลังจากกลุ่มที่ถูกเรียกชื่อในภายหลังว่า "คณะราษฎรอีสาน" ที่นำโดยจตุภัทร จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" พยายามตั้งเวทีชั่วคราวบริเวณถนนฝั่งร้านอาหารแมคโดนัล ตรงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามจะสลายการชุมนุมดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุมจึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการชุมนุมกีดขวางทางเท้า

เมื่อการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ประสบความสำเร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยา ยามใช้กำลังเพื่อกระชับวงล้อมเวทีการชุมนุมชั่วคราว พร้อมกับประกาศขอคืนพื้นที่ ก่อนจะมีการทยอยจับตัวแกนนำผู้ปราศรัยบนเวทีและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดชุมนุม หรือผู้ชุมนุม รวมแล้วอย่าง 21 คน โดยพาขึ้นรถคุมขังของตำรวจและมีการจับใส่เชือกรัดข้อมือคล้ายกุญแจมือเอาไว้ ก่อนจะถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (ตชด.ภาค 1)

อ่านข่าวเพิ่ม รอง ผบช.น. ยันเอาผิดผู้ชุมนุมราชประสงค์ทุกคน

เปิดข้อหาความผิด

โดยระหว่างการควบคุมตัวที่ ตชด.ภาค 1 ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเปิดเผยว่า เขาไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมว่า พวกเขาได้กระทำความผิดอย่างไร และเมื่อร้องขอให้ทนายความที่รออยู่ด้านนอกเข้าพบ ก็มีแต่คำอธิบายให้รอก่อน แต่ว่า ยังอนุญาตให้ใช้เครื่องมือสื่อสารและติดต่อกับบุคคลภายนอกได้อยู่ ทั้งนี้ หลังการควบคุมตัวเป็นเวลานับสิบกว่าชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาดังนี้

  • ป.อาญาฯ ม.215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โทษจำคุกไม่ 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ป.อาญาฯ ม.358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
  • ป.อาญาฯ ม.368 ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน โทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ป.อาญาฯ ม.385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  • ป.อาญาฯ ม.391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น แต่ไม่เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อ ม.34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาด โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • พ.ร.บ.จราจรทางบก ม.114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  • พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ม.12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  • พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ม.19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ม.10 ฐานการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ (มีแค่ ไผ่ ดาวดิน ที่ถูกดำเนินข้อหานี้)

 

นำตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวน 21 คน ไปขออำนาจศาลสั่งอนุญาตให้ฝากขังหรือควบคุมตัวไว้ระหว่างการสอบสวน โดย 'ไผ่ ดาวดิน' ถูกส่งตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญา รัชดา ส่วนผู้ต้องหาอีก 19 คน ถูกพาไปศาลแขวงดุสิต ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 คน เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี จึงถูกส่งตัวไปสอบสวนการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัว.

อย่างไรก็ดี หลังถูกนำตัวไปที่ศาล ปรากฎว่าใน 21 คน มีผู้ได้รับการประกันตัวมีเพียงรายเดียว นั้นคือ ผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน โดยศาลให้เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวแตกต่างกันไป โดยกรณีของไผ่ ดาวดิน ศาลเห็นว่า "พฤติการณ์ของผู้ต้องหามีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวก็อาจจะไปมีพฤติการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกันอีก"

19 ผู้ต้องหา ศาลไม่ให้ประกันตัว

ส่วนกรณี 19 ผู้ต้องหา ที่ต้องไปศาลแขวงดุสิต ศาลให้เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวว่า "ผู้ต้องหาทั้ง 19 คน มีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และมีพฤติการณ์ต่อสู้เจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ในลักษณะเป็นกลุ่มชนหมู่มาก อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะก่อความวุ่นวายในที่ชุมนุม และยากต่อการควบคุมสถานการณ์อันอาจเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นและประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในช่วงเวลานี้ เชื่อว่าจะไปร่วมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก"

โดยผู้ต้องหาทั้ง 20 คนจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ของราชทัณฑ์หรือเรือนจำ สำหรับผู้ต้องหาชายจะถูกควบ คุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ อย่างน้อย 16 คน และผู้หญิงจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง อย่างน้อย 3 คน ทั้งนี้ ทนายความจะดำเนินการยื่นประกันตัวอีกครั้งในวันที่ 16 ต.ค.นี้

 

จับวันที่ 2 หลังสลายการชุมนุมใหญ่อย่างน้อย 24 คน 

หลังมีการใช้ยุทธการสลายการชุมนุมของฝ่ายรัฐตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ต.ค.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจับกุมและควบคุมตัวแกนนำคณะราษฎรหลายคน เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา และประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ก่อนจะไปตามจับแกนนำและบุคคลอื่นๆ อีก เช่น รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ณัฐชนน ไพโรจน์ ที่มีเจ้าหน้าตำรวจไปจับบริเวณโรงแรมไอบิช ข้าวสาร โดยรวมแล้วมีอย่างน้อย 24 คน ที่ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี

ทั้งนี้ ในการจับกุมแกนนำบางคนเป็นการจับตามหมายจับเก่า เช่น อานนท์ นำภา หรือ ประสิทธิ์ ครุฑาโรจน์ ถูกจับตามหมายจับที่เชียงและถูกพาตัวไปเชียงใหม่ด้วยเครื่องบินตำรวจ ในขณะที่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ณัฐชนน ไพโรจน์ ถูกจับตามหมายจับม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน

แต่ทั้ง 2 กลุ่มล้วนถูกดำเนินคดีที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ (ป.อาญา ม.116), นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร (พ.ร.บ.คอมฯ ม.14(3), ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) เป็นต้น โดยจะต้องจะถูกนำตัวฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ส่วนผู้ต้องหารายอื่นๆ ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ ตชด. ภาค 1 คาดว่าจะถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น



ต่อมา เวลา 17.40 น. กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน ระบุว่า ศาลธัญบุรี มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ศาลโดยใช้เหตุเดียวกับที่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกัน ไผ่ดาวดิน กล่าวคือ ศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหามีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ก่อนจะถูกพาตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำธัญบุรี

เวลา 19.10 น.ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของอานนท์ และประสิทธิ์ รายงานว่า ศาลเชียงใหม่อนุญาตให้ฝากขังโดยไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสอง เนื่องจากศาลเห็นว่า มีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่น สนับสนุน ก่อให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนในบ้านเมือง และจะถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนที่เหลือจะถูกพาตัวไปขอศาลฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563

อย่างไรตาม มีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า จากการจัดการชุมนุมบริเวณย่านราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรถเครื่องเสียงมาไว้ที่ ตชด.1 คน และคาดว่าจะมีผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมอีกอย่างน้อย 5-6 คน ที่ถูกพาตัวมาที่ ตชด. ภาค 1 ด้วยเช่นกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวบ 6 ลูกจ้างบริษัทเครื่องเสียง เวทีปราศรัยชุมนุมราชประสงค์

บุกรวบ "เอกชัย" ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี

ด่วน! ตำรวจรวบตัวแกนนำ "ไผ่ ดาวดิน" หลังปักหลักรอชุมนุม

ยุติชุมนุมแยกราชประสงค์ นัดใหม่พรุ่งนี้ 5 โมงเย็น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง