ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำไมต้องรื้อคดี “นอแรด” หายจากสวนสัตว์สงขลา

สิ่งแวดล้อม
7 ต.ค. 63
15:54
1,164
Logo Thai PBS
ทำไมต้องรื้อคดี “นอแรด” หายจากสวนสัตว์สงขลา
ตำรวจสภ.คอหงส์ จ.สงขลา เตรียมรื้อคดี "นอแรดขาว" สวนสัตว์สงขลาหาย หลังจากพบว่ามีการไล่เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 2 คนออกไป พบข้อมูลว่านอแรด ยังเป็นที่ต้องการในตลาดค้าสัตว์ป่าจากความเชื่อทางยารักษาโรค ราคาขาย 400,000 บาทต่อกิโลกรัม

กรณีนายสุริยา แสงพงค์ ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถูกยิงเสียชีวิต ต่อมาผู้ก่อเหตุ คือนายภูวดล สุวรรณะ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์สงขลา ได้ฆ่าตัวตายในบ้านพักของสวนสัตว์สงขลา หลังถูกสอบปมเก้งเผือกพันธุ์พระราชทานหายไป จนถูกสั่งย้ายด่วน

วันนี้ (7 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่การสอบสวนปัญหาภายในสวนสัตว์สงขลาที่ถูกมองว่าอาจมีการลักลอบค้าสัตว์ป่า เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีปัญหานกแก้วมาคอร์หายไป 13 ตัว รวมทั้งปัญหาขโมยนอแรดขาว ซึ่งก่อนหน้านี้สวนสัตว์สงขลา เคยส่งนอแรดมาให้ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าเป็นชิ้นส่วนนอแรดขาวที่พบว่ามีการถูกขูดออกไปบางส่วน 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีแสง ผกก.สภ.คอหงส์ จ.สงขลา กล่าวว่า เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เบื้องต้นพนักงานสอบสวน สภ.คอหงส์ อยู่ระหว่างการเรียกสำนวนทั้งหมด รวมทั้งพยาน ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ปากคำอีกครั้ง 

 

สำหรับกรณีแรดขาวของสวนสัตว์สงขลา 1 ตัวตายลงในช่วงปี 2555 ทางสวนสัตว์สงขลา ได้มีการตัดนอแรดทั้ง 2 นอ คือนอแหลม 1 นอ กับนอทู่ที่อยู่ภายในต้องผ่าออกมา และเก็บไว้ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

จากข้อมูลของสวนสัตว์สงขลา พบว่านอแรดถูกเจ้าหน้าที่สวนสัตว์สงขลา นำเอกสารมาเบิกออกไป ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2556 แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการตรวจสอบพบว่ามีการทำเอกสารเท็จเบิกนอแรดไปเพียวแค่ 1 นอเท่านั้น จากนั้นเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2561 ทางสวนสัตว์สงขลา แจ้งความที่สภ.เมืองสงขลา และทางสภ.เมืองสงขลาได้โอนสำนวนมายังสภ.คอหงส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นเรื่องที่นอแรดหายไป

ทางสวนสัตว์สงขลา ได้สอบสวนติดตามนอแรดที่หายไปปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวที่เกี่ยวข้อง 2 คนคือคนที่ไปเบิกนอแรด จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่ง 1 คนที่ขโมยนอแรดถูกไล่ออกเมื่อ 1 พ.ย.2561 และอีก 1 คนเสียชีวิต 

ขณะนี้มีการยืนยันว่าสวนสัตว์สงขลา ติดตามนอแรดคืนมาเพียงอันเดียว เป็นนอทู่ ที่ส่งตรวจที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและพบว่ามีร่องรอยขูดเนื้อจนเว้าแหว่งออกไป ส่วนนอแหลมหายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งตำรวจระบุว่ามีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านบาท 

จนท.ม.สงขลาฯ ยันนอแรด 2 นอ รับคืนไปแล้ว

แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่าเหตุการณ์แอบเบิกนอแรดเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และตอนนี้เหลือเพียงกะโหลกของนอแรดขาวที่ยังเก็บในพิพิธภัณฑ์ ที่เดิมอยู่ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์เท่านั้น ตอนนี้มีนักข่าวมาสอบถามเรื่องนี้เยอะมาก หลังจากมีข่าวว่าตำรวจจะรื้อคดีนี้ แต่เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องบางคนย้ายออกจากมหาวิทยาลัยสงขลาไปแล้ว และข้อมูลขอให้กับฝ่ายสอบสวนอย่างเดียว

ยืนยันว่ามีการขอคืนนอแรดทั้ง 2 นอไปจากคณะวิทยาศาสตร์ทั้งหมดแล้ว ส่วนที่จะหายไปกับใคร หรือเกี่ยวกับใคร ทางมหาวิทยาลัยขอให้เป็นการสอบสวนของตำรวจ แต่มีเอกสารทั้งหมดที่ตรวจสอบความโปร่งใสได้  

"นอแรด"ความเชื่อรักษาโรค 

ข้อมูลงานวิจัยของ สีฟ้า ละออง กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สํานักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง การตรวจพิสูจน์นอแรด (Rhinocerotiade spp.)ในปี 2557 ระบุว่านอแรด (Rhino Horn) ถูกนําไปใช้เป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณมานานกว่า 3,000 ปี โดยเชื่อกันว่า นอแรดเป็น “ยาเย็น” ช่วยลดอุณหภูมิความร้อนของร่างกาย ช่วยล้างพิษออกจากร่างกาย ทําให้ผ่อนคลาย เป็นยารักษาโรคต่างๆ  ไทรอยด์ ดีซ่าน เอดส์มะเร็ง 

ตลาดผู้บริโภคหลักได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้มีการบันทึกไว้ว่า มีการค้านอแรด
ระหว่างทวีปอาฟริกาและทวีปเอเชียมามากกว่า 2,000 ปีเนื่องจากประชากรของแรดส่วนใหญ่อยู่ใน
ทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ประเทศในตะวันออกกลาง เยเมน มีวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ปฏิบัติกันมาช้านานแล้วในการนํานอแรดมาประดิษฐ์เป็นด้ามกริช ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สําคัญใช้ประกอบในการแต่งกายโดยเหน็บไว้ที่ผ้าคาดเอวของผู้ชาย นอแรดเหล่านี้ก็ซื้อมาจากแอฟริกาเช่นกัน

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

การใช้ประโยชน์จากนอแรด อย่างยาวนาน และมากมายทําให้มีการล่าแรดเพื่อเอานอ แรดต้องล้ม
ตาย ประชากรทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) รายงานว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2545  จํานวนแรดที่ถูกฆ่าเพิ่มขึ้นจากเดิม 20 ตัวต่อปีเป็น 668 ตัวต่อปี (ปี พ.ศ.2555) และเฉพาะครึ่งปีแรกของ 2556 ถูกฆ่าไปแล้ว 446 ตัว นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการ 

ปัจจุบันการค้านอแรด ในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่กระจุกอยู่ที่ประเทศเวียดนาม เพราะมีการชวนเชื่อในสื่อต่างๆ ว่านอแรดรักษาได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ราคานอแรดมีราคาเทียบเท่าทองคําคือประมาณ 400,000 บาทต่อกิโลกรัม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดอีก! ขโมยตัด "นอแรดขาว" สวนสัตว์สงขลา

นายกรัฐมนตรี สงสัยงูชอบกินเก้งเผือก ?

เปิดชื่อ 6 กรรมการคนนอกสอบค้าสัตว์-ขีดเส้น 45 วัน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง