ภาพควันสีขาว ที่พวยพุ่งออกมา จากปล่องของโรงงาน ถูกชาวบ้านใน หมู่ที่ 1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บันทึกไว้ได้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 พร้อมบรรยายลักษณะของกลิ่น เช่นเดียวกับคลิป ที่บันทึกได้ในลักษณะเดียวกันอีกหลายครั้ง ชาวบ้านกลุ่มนี้ บอกว่า ความเดือดร้อนจาก "กลิ่นเหม็น" เกิดขึ้นหลังการเข้ามาของ โรงงานหลอมเศษโลหะจากอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ยังสร้างความกังวลว่า สารที่ปนเปื้อนออกมา จะสะสมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
ชาวบ้าน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ระบุว่า คนที่บ้านเป็นโรคปอด ต้องลุกขึ้นมานั่งเอายาพ่น กลิ่นมันฉุนมาก ลอยเข้ามาในบ้าน
คลิปภาพที่ถูกบันทึกไว้ วันที่ 29 ก.ค.2563 ระหว่างเจ้าหน้าที่ เข้าไปตรวจสอบภายในโรงงาน ตามคำร้องเรียน ชายคนหนึ่ง ระบุว่า กลิ่นที่เกิดขึ้น มาจากการทดลองเครื่องจักร ไม่ได้เป็นการเริ่มประกอบกิจการแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการแจ้งให้ยุติ และหากจะเริ่มประกอบกิจการต้องแจ้งขออนุญาตตามขั้นตอน พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขป้องกันผลกระทบอย่างเคร่งครัด
จากการตรวจสอบของทีมข่าว พบโรงงานยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ในนามบริษัทสัญชาติไทย ประเภทโรงงานลำดับที่ 106 ประกอบกิจการ หลอมหล่อเศษโลหะจากเศษอิเล็กทรอนิกส์เพื่อกลับมาใช้ใหม่ เครื่องจักร 1,011 แรงม้า ลงวันที่ 17 มี.ค.2563
เล็ก เล็บขาว ชาวบ้าน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ให้ข้อมูลว่า เคยมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ในช่วงเริ่มต้นของการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งแม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะแสดงความกังวล และไม่เห็นด้วย แต่ท้ายที่สุดโรงงาน ก็ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
วันที่ทำประชาคมไม่มีใครยกมือโหวต เดินออกมาทีละคนสองคน แต่เขาก็ยังสร้างต่อ เริ่มเดินเครื่องและมีกลิ่นเหม็น
จากการตรวจสอบพบว่า 1 ในเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานที่ชาวบ้านร้องเรียน พบระบุข้อความว่า โรงงานต้องมีและใช้ระบบขจัดฝุ่นละออง กลิ่น ไอสารเคมี ที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายต่อผู้อาศัยใกล้เคียง ซึ่งการได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้าย จึงจะสามารถแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานได้ แต่จากการเจรจาพูดคุยกับชาวบ้านในหลายครั้งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
ร้องรัฐหยุดไฟเขียวโรงงานขยะ - เลิกนำเข้าพลาสติก
ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชนมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า เมื่อดูจากขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้กับโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยกและรีไซเคิล ยังมีช่องว่างให้โรงงานประเภทนี้เกิดขึ้นได้ง่าย และขณะเดียวกันคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 กรณีให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สําหรับการประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งมีประเภทโรงงานลําดับที่ 105 และ 106 ก็ยิ่งชี้ชัดว่า เป็นการเปิดโอกาสให้กิจการโรงงานประเภทนี้ขยายตัวในประเทศไทย
ดาวัลย์ ระบุว่า จีนเขายังห้ามได้ ไม่ให้เข้าขยะจากประเทศอื่นเข้าไปในประเทศเขา ที่ปักกิ่ง PM 2.5 ลดลง แล้วทำไมไทยต้องเปิด ที่อ้างว่าต้องเปิดรับพลาสติกจากต่างประเทศ เพราะพลาสติกในประเทศไม่มีคุณภาพ ก็ต้องถามกลับว่า ทำไมไม่รีไซเคิลพลาสติกในประเทศให้ดีก่อน ควรหยุดอนุญาตเปิดโรงงานประเภทนี้ได้แล้ว
ขณะที่การร้องเรียนผลกระทบจากโรงงานประเภทคัดแยกและรีไซเคิล ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับตัวเลขการเติบโตของกิจการประเภทนี้ มีข้อเรียกร้องจากผู้ได้รับความเดือดร้อน ให้อย่างน้อย ควรจะต้องมีการทบทวนปรับแก้เงื่อนไขประเภทโรงงาน ที่เข้าข่ายจะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
THE EXIT : พิรุธเปิดโรงงานขยะทุนจีน
THE EXIT : พิรุธเปิดโรงงานขยะทุนจีน ตอน 2