ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำอีก 30 ปี

ภัยพิบัติ
25 ก.ย. 63
17:18
7,068
Logo Thai PBS
THE EXIT : กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำอีก 30 ปี

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล บางจุดต่ำกว่าถึง 2 เมตร เป็นผลมาจากการโหมใช้น้ำบาดาลมหาศาลในอดีต และคงไม่แปลกที่การสูบน้ำออก เวลามีฝนตกหนัก ไม่ใช่เรื่องง่าย

ทุกตารางนิ้วที่เต็มไปด้วยคอนกรีตก็ไม่สามารถซับน้ำลงใต้ดินได้ แนวทางที่น่าสนใจก็คือการทำแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน และโครงสร้างทางวิศวกรรมที่มากกว่าอุโมงค์ระบายน้ำ

 

กรุงเทพฯจะจมน้ำหรือไม่ ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2593 ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ แต่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC เตรียมเปิดเผยข้อมูลนี้ ในปี 2564 ว่ากรุงเทพฯ จะต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงจมน้ำ 3 เมตร

เดิมพันของกรุงเทพฯ คือ อาจต้องจมอยู่ใต้น้ำ ทั้งน้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุนสูง นักวิชาการด้านน้ำยืนยันว่าผลงานวิจัยอาจไม่ได้หมายความว่า กรุงเทพจมน้ำทะเลทั้งเมือง แต่มีความเสี่ยงจมน้ำฝนรุนแรง แม้งานวิจัยระบุว่าอาจจะเกิดขึ้นได้เพียง 1 หรือ 5% เท่านั้น แต่ยิ่งความเสี่ยงน้อยความรุนแรงก็จะมาก

 

เช่นเดียวกรณีเขื่อนสามผา ประเทศจีน ที่สร้างขึ้นมาสามารถรองรับความรุนแรงของภัยบิบัติได้ถึง 1,000 ปี แต่ยังไม่ถึง 1,000 ปี เขื่อนก็ไม่สามารถต้านทานความรุนแรงของปริมาณน้ำฝนได้

 

ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ระบุว่ากรุงเทพต้องจมน้ำฯอีกต่อไปหากไม่ใช้หลัก วิศวกรรมแก้ไขปัญหา ถึงแม้อุโมงค์ระบายน้ำ จะเป็นวิธีระบายถูกต้องตามหลักวิศวกรรม แต่กรุงเทพฯ จะหวังเพิ่งเพียงอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้เนื่องจากบางพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดการทรุดตัวต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ถึง 2 เมตร เช่นสุขุมวิท จึงต้องแก้ด้วยวิธีเก็บน้ำไว้แก้มลิงใต้ดิน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาในที่ต่ำ

"ต้องแก้ไขด้วยระบบแก้มลิงที่อยู่ในเมืองตามจุด ให้บรรเทาไว้ก่อน เพื่อให้น้ำพร่องเร็วที่สุด จากนั้นจึงค่อยถ่ายเทมาที่อุโมงค์ยักษ์ ก่อนที่จะถ่ายเทไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป แต่ปัจจุบันปํญหาหลักก็คือน้ำมาไม่ถึง"

 

ปัญหาภัยพิบัติรุนแรงจขึ้นจาก Climate change ทำให้บางประเทศมีแนวคิดย้ายเมืองหลวงเพราะมีสภาพจมน้ำทะเลไปถึง 95% คือ อินโดนีเชีย ทุ่มงบประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กอบกู้กรุงจากาตาร์ แต่ถึงอย่างไรใน 4 ปี ข้างหน้าก็มีแผนย้ายเมืองหลวงไปยังเกาะบอร์เนียว สำหรับกรุงเทพมหานคร การย้ายเมืองหลวง ยังไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้

 

 

THE EXIT อธิบายให้เห็นภาพทำไมกรุงเทพฯ ถึงเสี่ยงต้องถูกน้ำท่วมซ้ำ ๆ ทุกปี เดิมพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีการสูบน้ำใต้ดินหรือว่าน้ำใต้บาดาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลานาน ทำให้บางพื้นที่ เช่น รามคำแหง บางกระปิ สุขุมวิท อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตร ดังนั้นเมื่อเกิดฝนตกลงมาน้ำก็จะมักท่วมขังบริเวณนี้การใช้วิธีการสูบน้ำแบบเดิม โดยการใช้เครื่องสูบน้ำจึงอาจใช้ไม่ได้กับพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

สำนักวิจัยนวัตกรรมอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจุลจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบังเสนอให้ทำแก้มลิงใต้ดิน เหมือนกับกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลักการง่าย ๆ ใช้พื้นบึงเดิมในสวนสาธารณะ เช่น สวนเบญจกิติ มีการศึกษามาแล้วหากทำแก้มลิงตามขนาดเท่านี้ เวลาฝนตกลงมาจะเก็บน้ำได้ถึง 1 แสนลูกบาศก์เมตร จุดนี้จะช่วยย่านเศรษฐกิจ อย่างพระราม 4 และอโศก

 

หลายประเทศที่เขาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาก ๆ เขาทำกันอย่างไร อย่างเนเธอแลนด์ ก็สร้าง Delta Works กำแพงกันคลื่น นับเป็นโครงการจัดการน้ำที่โด่งดังไปทั่วโลก กลายเป็นต้นแบบให้หลายประเทศไปศึกษาดูงาน

ขณะที่ญี่ปุ่น เจอทั่งพายุไต้ฝุ่น สึนามิแต่เขาก็สามารถป้องกันน้ำท่วม ด้วยวิธีสร้าง Super Levee สร้างเป็นถนนกั้นขึ้นมาพร้อมกันถอยร่นชุมชนออกไปให้แม่น้ำกว้างขึ้น

สำหรับในประเทศไทยสิ่งที่นักวิชาการด้านน้ำกังวลมากที่สุดคือ น้ำทะเลหนุนวิธีที่จะป้องกันคือการสร้างคันธรรมชาติ ด้วยการปลูกป่าชายเลนกันคลื่นลึกเข้าไปถึง 100 เมตร ตั้งแต่ จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งต้องสร้างทำนบกั้นน้ำหรือเขื่อนหิน ไปถึง จ.ชลบุรี เพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้ามา

 

ดูเหมือนกรุงเทพมหานครยังไม่หมดหวัง แต่ก็ท้าทายรัฐบาลและผู้ราชการกรุงเทพมหานครว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้กรุงเทพมหานครถูกน้ำท่วม หรือจะยอมปล่อยไปเลย เพราะหากไม่ทำอะไรเลยใน ในอีก 30 ปีข้างหน้า มีการประเมินว่า จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากถึง 350,000 ล้านบาทต่อปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง