ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : กู้ขยะเหตุเรือล่มเกาะสมุย ตอน 2

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ย. 63
18:11
664
Logo Thai PBS
THE EXIT : กู้ขยะเหตุเรือล่มเกาะสมุย ตอน 2
สถานการณ์ COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ลดลง เพราะนักท่องเที่ยวร้อยละ 95 เป็นชาวต่างชาติ สอดคล้องกับปริมาณขยะตั้งแต่ มี.ค.ที่ผ่านมา ลดลงจากวันละ 150 ตัน เหลือ 80-100 ตัน แต่ยังคงต้องขนย้ายด้วยการบรรทุกใส่เรือออกไปกำจัดนอกพื้นที่

ค่ำคืนบนถนนเลียบชายหาดเฉวง บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เคยเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถานบันเทิง ที่เปิดให้บริการตลอด 2 ข้างทาง แต่หลังการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้พื้นที่เงียบเหงา ขณะนี้รถเก็บขยะของเทศบาลนครเกาะสมุย สามารถตระเวนเก็บขยะบนถนนเลียบหาดเฉวงได้เร็วขึ้น

 

เสกสรร ทิพมาตย์ พนักงานเก็บขยะ บอกว่า เฉวงเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณขยะมากที่สุดบนเกาะสมุย เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 10 ตัน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่น ๆ หลังไม่มีนักท่องเที่ยวจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ปริมาณขยะลดลงอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับตัวเลขปริมาณขยะภาพรวมของเกาะ ที่ลดลงจากวันละ 150 ตัน เหลือ 80-100 ตัน

 

 

ก่อนหน้านั้นปี 2561 สมุยในฐานะเมืองท่องเที่ยว เคยมีขยะเฉลี่ยสูงถึงวันละ 200 ตัน ขยะที่เก็บได้ในแต่ละวันจะถูกนำมากองรวมไว้ที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยเทศบาลนครเกาะสมุย ในพื้นที่ ม. 5 ต.มะเร็ต

 

สุธรรม สามทอง รองนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย กล่าวว่า ขยะเกิดใหม่รายวันบนเกาะสมุย เป็นขยะภายใต้สัญญาที่เทศบาลนครเกาะสมุย ทำกับกิจการค้าร่วม ปัญจะ ลัคกี้ คลีน เอ็นไวรอนเมนทอล เมื่อปี 2561 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยเทศบาลนครเกาะสมุย เป็นผู้ว่าจ้างให้บริษัทดำเนินการขนขยะใหม่ จากสถานีขนถ่ายมูลฝอยออกไปกำจัดนอกเขตพื้นที่ที่ ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ในสัญญาระบุจำนวนขยะทั้งหมด 240,000 ตัน ในราคา 368,400,000 บาท หรือเฉลี่ยตันละ 1,300 บาท ระยะเวลา 5 ปี ใช้เทคโนโลยีอัดมูลฝอยเป็นก้อน ห่อมัดก่อนทำการขนย้าย และยังมีสัญญาขนย้ายขยะตกค้างจำนวน 100,000 ตัน ในระยะเวลา 600 วัน งบประมาณ 153 ล้านบาท

 

สภาพปัจจุบันของสถานีกำจัดมูลฝอยเทศบาลนครเกาะสมุย ขณะนี้เต็มไปด้วยขยะตกค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2551 จำนวนกว่า 360,000 ตัน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ไม่มีพื้นที่รองรับขยะใหม่บนเกาะสมุย และต้องใช้วิธีขนย้ายไปกำจัดบนฝั่ง เมื่อย้อนกลับไปจะพบว่าเกาะสมุย เริ่มมีปัญหาขยะและได้รับงบประมาณก่อสร้างเตาเผาขยะกว่า 500 ล้านบาท ในปี 2542

 

 

ด้วยปัญหาด้านการบริหารจัดการและไม่มีการคัดแยกขยะ ทำให้เตาเผาขยะพังหลังจากใช้งานได้เพียง 10 ปี จึงต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีฝังกลบในพื้นที่ แต่ไม่สามารถยุติปัญหาได้ ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ลักษณะประชากรบนเกาะสมุยที่มีคนพื้นถิ่นราว 70,000 คน ประชากรแฝง 300,000 คน และนักท่องเที่ยวอีกปีละ 2,000,000 คน ทำให้การรณรงค์จัดการขยะต้นทางเป็นไปได้ยาก

 

วิทยา กาญจนพันธุ์ หัวหน้าช่างและสวน โรงแรมแฟร์เฮาส์เกาะสมุย กล่าวว่า โรงแรมแห่งนี้เป็นกลุ่มแรก ๆ บนเกาะสมุย ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการลดขยะต้นทาง เศษอาหารภายในโรงแรมถูกนำมาคัดแยกทำเป็นน้ำหมักชีวภาพดูแลพืชผักสวนครัว และยังสามารถต่อยอดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมแปลงผัก เรียนรู้เรื่องสมุนไพรไทย

 

ไม่เพียงแค่ขยะของโรงแรมตัวเองเท่านั้น ที่นี่ยังสามารถช่วยกำจัดขยะเปียกจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ด้วยการนำมาเป็นอาหารหมูและอาหารเป็ด ลดภาระการกำจัดขยะให้กับเทศบาลนครเกาะสมุย

ผู้ดูแลโครงการลดขยะในสถานประกอบการ ยอมรับว่า การลดขยะในรูปแบบนี้ต้องใช้พื้นที่และคนลงมือทำ รายได้จากการลดขยะภายในสถานประกอบการ ทั้งเงินจากการขายขยะรีไซเคิล ผักสวนครัว หรือสัตว์ที่เลี้ยง ใช้เป็นสวัสดิการให้พนักงานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้โครงการนี้สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิทยา มองว่า การลดขยะต้นทางจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เกาะสมุย สามารถไปถึงเป้าหมายการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ ตามแผนของเทศบาลนครเกาะสมุย มีการตั้งงบประมาณ 2,000,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาความเหมาะสมรูปแบบในการกำจัดขยะบนเกาะสมุยให้เป็นไปนโยบายจัดการขยะอย่างยั่งยืน หลังสัญญาขนย้ายขยะตกค้างสิ้นสุดลงในปี 2565

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง THE EXIT : กู้ขยะเหตุเรือล่มเกาะสมุย 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง