ถ้ำบาดาล ความลึก 90 เมตร ในผาฮวก ต.ดงมะไฟ เปิดให้ท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2561 ภายในถ้ำมี 9 ห้องถูกแบ่งเป็นห้อง ๆ ด้วยหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงามแตกต่างกัน ห่างจากปากถ้ำบาดาลเพียง 50 เมตร พบวัตถุโบราณจำนวนมากในถ้ำศรีธน ปัจจุบันวัตถุโบราณถูกย้ายออกมาเก็บและจัดแสดงไว้ที่ปากถ้ำ ขณะที่รอบถ้ำบาดาลยังมีถ้ำน้ำลอดอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดี
ความสวยงามและสิ่งของมีค่าอาจไม่ได้สร้างความสบายใจให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เพราะด้านบนของถ้ำบาดาลและถ้ำน้ำลอดมีหลักหมุดแสดงขอบเขตพื้นที่อนุญาตทำเหมืองหินปูน
นายเทิดพงษ์ อนุเวช ชาว ต.ดงมะไฟ กล่าวว่า หลักหมุดขอบเขตเหมืองเป็นเทือกเขาเดียวกัน ขอบเขตคลอบคลุมถึงถ้ำ ชาวบ้านเป็นห่วงถ้ำหากมีการระเบิดหินต่อ ภาคอีสานไม่มีแบบนี้
25 กันยายน 2543 กรมทรัพยากรธรณีอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ประเภทหินปูน ให้บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ประทานบัตรเหมืองแร่คลอบคลุม เนื้อที่ 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ระยะ 10 ปี โดยปัจจุบันบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ ต่ออายุประทานบัตรมาแล้ว 2 ครั้ง ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสิ้นสุดลง
สิ่งที่ชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กังวลว่าหากต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าและยังคงทำเหมืองหินต่อไปผลที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น
นายสมควร เรืองโหน่ง ชาวบ้าน ต.ดงมะไฟ ก่อนที่จะได้หิน จะต้องมีการทำลายป่าก่อน ถ้าพูดถึงป่าไม่ได้หมายถึงแค่ต้นไม้ เพราะในป่ามีต้นไผ่ ไผ่รวก ไผ่ซาง ไผ่เปาะ ไผ่ข้าวหลาม คิดว่าไม่ใช่การห่วงแหนแค่หิน แต่ต้องรักษาภูเขาด้วย
ภูผาฮวกเป็นพื้นที่หาของป่าของชาวบ้าน ต.ดงมะไฟ มีเห็ด หน่อไม้ รวมไปถึงสมุนไพรหลายชนิด ปัจจุบันบางส่วนเป็นเหมืองหินปูน หากต่อจากนี้ใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าได้รับการต่ออายุและทำเหมืองหินปูนต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านเคยพึ่งพาอาจหมดไป
นายสมควร เรืองโหน่ง กล่าวอีกว่า เหมืองเป็นผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน แต่คนส่วนใหญ่เสียโอกาส ถ้าเราจะทำถนน ห้องน้ำ หรือบ้าน ถามว่าหินที่จะนำมาก่อสร้างฟรีหรือไม่ ถามว่าประโยชน์จากเหมืองเกิดขึ้นกับคนเพียงกลุ่มเดียว ถ้าเราห่วงแหนไว้ คนทั้งตำบล หรือทั้งจังหวัด จะได้มากินอาหารจากธรรมชาติ ถ้ารักษาไว้จะดีกว่าให้สัมปทานทำเหมือง
ภาพเขียนสีโบราณอายุมากกว่า 3,000 ปี บนภูผายาห่างจากเหมืองประมาณ 450 เมตร ทีมข่าวพบว่าภาพเขียนสีโบราณมีอยู่ 2 จุด บนผายา จุดแรกอยู่ใกล้กับวัดผายา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู จุดนี้พบมีรอยแยกของหิน ซึ่งอาจมาจากผลกระทบจากการทำเหมืองหินปูน
อีกจุดอยู่สูงขึ้นไปบริเวณถ้ำเสือ หากมองจากปากปล่องที่มีภาพเขียนจะเห็นภูผาฮวกและเหมืองหินปูน
ป้ายภาพสำรวจรอยหินแยก อาจมาจากผลกระทบของการทำเหมืองหินปูนอยู่ห่างจากภาพเขียนสีไม่ถึง 5 เมตร
ผายาเคยอยู่ในพื้นที่การทำเหมืองหินแต่พบว่าในพื้นที่ขออนุญาตมีภาพเขียนสีโบราณจึงไม่ได้ใบอนุญาต
พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 มาตร 17 วรรคสี่ ระบุว่า "พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่ เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หรือ พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม"
น.ส.จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า ภูผายาคือพื้นที่ที่กรมศิลปากรประกาศแล้วว่าเป็นแหล่งโบราณสถานมีภาพเขียนสีอายุกว่า 3,000 ปี โดยไม่ได้มีเพียงภาพเดียว และยังเป็นพื้นที่ที่มีความสวยงาม ตอนนี้แหล่งโบราณสถานที่สำคัญของประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
ปัจจุบันใบอนุญาตใช้ป่าบริเวณภูผาฮวกจะหมดอายุลงแต่อยู่ในระหว่างต่ออายุสัมปทานจึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้าน ต้องการฝากให้หน่วยงานยุติการทำเหมือง