ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : ยืดเกมเจรจา "เหมืองอัครา" ทุนต่างชาติซ่อนรูป

สิ่งแวดล้อม
11 ก.ย. 63
19:58
1,383
Logo Thai PBS
THE EXIT : ยืดเกมเจรจา "เหมืองอัครา" ทุนต่างชาติซ่อนรูป
จับตาการเจราจาข้อยุติกรณีพิพาทรัฐบาลไทย-บริษัท คิงส์เกต ปมสั่งปิดเหมืองทองอัครา หลังกระบวนการเจรจาถูกยืดไปพร้อมการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการฯ เป็นเดือน ก.พ. 63 ขณะที่บริษัท คิงส์เกต เปรยท่าทีรัฐบาลไทยมีแนวโน้มประนีประนอมลดความเสี่ยงเสียค่าโง่

5 เดือนนับจากนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องเจรจากับบริษัท คิงส์เกต บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอสเซสทุนใหญ่ที่เข้ามาทำเหมืองทองในประเทศไทย จากกรณีที่รัฐบาล คสช. ใช้ ม.44 สั่งยุติเหมือง ขณะที่บริษัท คิงส์เกต เรียกร้องค่าเสียหายนับหมื่นล้าน จนถูกตั้งคำถามถึงความเสี่ยงที่รัฐบาลไทยอาจต้องเสียค่าโง่

เพื่อป้องกันความเสียหายรัฐบาลไทยเดินหน้าเจรจากับ บริษัท คิงส์เกต ถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลไทยไม่ต้องเสียค่าโง่ ขณะที่บริษัท คิงส์เกต ยังมีบริษัทลูกอีกนับไม่ถ้วน ที่รอคิวดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ในไทยและในสมการที่มีการต่อรองอยู่นี้ ไม่ได้มีเฉพาะรัฐบาล และบริษัท คิงส์เกต แต่ยังมีกลุ่มทุนไทยที่รอจังหวะทวงคืนส่วนแบ่งจากธุรกิจนี้


ปี 2535 เป็นปีที่ บริษัท อัครา เริ่มสำรวจแร่ในประเทศไทย และเริ่มขุดหาแร่ทองคำในเวลาต่อมาซึ่งเวลานั้นมีกลุ่มทุนไทยหลายกลุ่ม หมุนเวียนเข้าไปร่วมทุน

กลุ่มทุนใหญ่ที่น่าจับตา คือ บริษัท สินภูมิที่เข้าร่วมทุนในช่วง ปี 2549 จากนั้นไม่กี่ปีมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น เป็น กลุ่มบริษัท เอ็มไพร์ เอเชียซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ เมื่อตรวจสอบเชิงลึก ล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนเดียวกัน คือ 1.กลุ่มเตชะอุบล 2.กลุ่มเปี่ยมพงษ์สานต์และ 3.กลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ


กระทั่งถึงปี 2554 กลุ่มทุนใหญ่ของไทย ถูกผลักออกไปอย่างมีนัยยะสำคัญ และบริษัท อัครา ดึง "บุคคล"เข้ามาแทนที่ปรากฏชื่อของ น.ส.ณุชรีย์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาช่วงต่อจากบริษัท คิงส์เกต

ตรวจสอบประวัติของ น.ส.ณุชรีย์ พบว่า น.ส.ณุชรีย์ มีสามีเป็นชาวออสเตรเลีย ทั้งคู่ตั้งบริษัทด้วยกันจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ไทย ใช้ชื่อ บริษัท โลตัส ฮอลล์ ไมนิ่งบริษัทนี้ประกอบธุรกิจในลักษณะ subcontracter หรือบริษัทรับเหมาช่วงต่อ โดยรับงานมาจาก บริษัท คิงส์เกต ดำเนินกิจการเหมืองทั้งในไทยอย่างเหมืองชาตรี และทำเหมืองในลาว ต่อมาสามีของเธอเสียชีวิตและเธอเป็นผู้รับช่วงต่อกิจการนี้

ปี 2556 เมื่อ บริษัท อัคราเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พบว่า น.ส.ณุชรีย์ กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทถือหุ้นมากกว่า 51% โดยมีเงินทุน กว่า 265 ล้านบาท การที่ น.ส.ณุชรีย์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกจับตาจากหน่วยงานรัฐ เพราะย้อนกลับไปดูประวัติบริษัทของเธอ เมื่อเข้ามาร่วมทุนกับบริษัท อัครา ปี 2554 บริษัท โลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง มีกำไรปีนั้น 6 ล้านกว่าบาทเท่านั้น

การสอบสวนเชิงลึก น.ส.ณุชรีย์ อ้างว่า บริษัทของเธอมีรายได้มาจากการทำธุรกิจ และกู้ยืมเงินจากหุ้นส่วนบางส่วนใช้เป็นเงินทุนเข้าไปร่วมหุ้นกับ บริษัท อัครา

หันกลับสู่สถานการณ์ปัจจุบันการเจราจาของรัฐบาลไทย และบริษัท คิงส์เกต เกิดขึ้นหลายครั้ง และทั้ง 2  ฝ่าย เลือกที่จะยืดเวลาการเกลี่ยไกล่ผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการออกไป ครั้งล่าสุด คือ การพิจารณาในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งถูกเลื่อนออกไปในเดือน ก.พ.ปีหน้า

จังหวะที่มีห่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ของการเจราเราพบว่า บริษัท คิงส์เกต มีบริษัทลูกอีกหลายบริษัท ที่จ่อคิวเข้ามาดำเนินการในไทยทั้งกรณีล่าสุด การสำรวจเหมืองที่ จ.จันทบุรี ที่มีบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่งเป็นผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจเหมือง ซึ่งเมื่อสาวไปแล้วก็พบว่ามี บริษัท คิงส์เกตเป็นบริษัทแม่ ไม่นับรวมกับพื้นที่อื่นๆ เช่นการสำรวจเหมืองที่ พบว่า บริษัท อัครา ยื่นสำรวจเหมืองไปแล้วเช่นกัน


ทิวา แตงอ่อน ผู้ประสานงานกลุ่มไม่เอาเหมือง จ.จันทบุรี ระบุว่า ถ้ามีการทำเหมืองตามเนื้อที่ชายป่าพิเศษ 14,650 ไร่ นั้น ไม่ไกลจากอ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ ผลกระทบจากแรงระเบิดวันละ 2 เวลา และผลกระทบจากฝุ่นละอองที่ปลิวหลายกิโลเมตร กระทบกับชาวบ้านในพื้นที่แน่นอน

ที่สำคัญช่วงเวลาที่ท้องถิ่นปิดประกาศในพื้นที่สำรวจเหมือง ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับบริษัทอัครา ไมนิ่ง เผยแพร่เอกสารถึงท่าทีที่รัฐบาลไทยมีต่อ บริษัท คิงส์เกต ล่าสุดคือการให้ไฟเขียวกับ บริษัท คิงส์เกตสามารถแร่ทองและเงิน ที่ขุดจากเหมืองชาตรี จ.พิจิตร ขนเข้าสู่โรงแร่ไทย และระบุด้วยว่า คิงส์เกตเห็นว่าการตัดสินใจของรัฐบาล เป็นก้าวเล็กๆ ที่ดีและแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยเต็มใจที่จะเจรจาเพื่อก้ปัญหาของทั้งสองฝ่าย


สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงานที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีไปเจรจากับคิงส์เกตก็มีความคืบหน้าพอสมควร

สัญญาณนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกที่ความพยายามของรัฐบาลไทย ที่จะประณีประนอมกับ บริษัท คิงส์เกต แลกกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ที่มีพื้นที่เป้าหมายอีก 12 จังหวัดทั่วประเทศไทย ท่ามกลางการเฝ้าจับตาของกลุ่มทุนไทย ที่เคยเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท คิงส์เกตและยังเป็นกลุ่มทุนที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลในเวลานี้


ตามเส้นทางสืบสวนของไทยพีบีเอส พบว่า บริษัทคิงส์เกต ทยอยตั้งบริษัทลูกตั้งแต่ ปี 2536 โดยให้บริษัทลูกเหล่านั้น เข้าไปลงทุนสำรวจแร่ และทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้น ทั้ง ชิลีเปรู อาร์เจนติน่า ลาว และไทย ยกตัวอย่างกรณีประเทศไทย คือ การตั้งบริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล และบริษัท เอเชีย โกลด์ ซึ่งมีการซื้อหุ้นถึง 3 ทอด เข้ามาลงทุนในการสำรวจทองใน จ.จันทบุรี โดยเลือกตั้ง บริษัทลูกทั้ง 2 ไว้ที่ เกาะมอริเชียสซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีทับซ้อนกับไทย


ข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า "โต๊ะเจรจา" กรณีข้อพิพาท รัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกต มีผลประโยชน์ของประเทศเป็นเดิมพันท่ามกลางสายตาที่จับจ้องจากกลุ่มทุนที่อยากมีส่วนร่วมกับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการทำเหมืองที่แต่ละเหมืองมีมูลค่านับหมื่นล้าน แต่สิ่งนี้อาจต้องแลกกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ประโยชน์ที่ว่ามีมูลค่ามหาศาลตกอยู่กับประเทศจริงหรือไม่

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัส พิรุธอาชญาบัตรสำรวจเหมือง "จันทบุรี"

"คิงส์เกต" เผยรัฐบาลไฟเขียวขนแร่ออกเหมืองชาตรี เชื่อเป็นสัญญาณบวก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง