ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดรหัส พิรุธอาชญาบัตรสำรวจเหมือง "จันทบุรี"

อาชญากรรม
10 ก.ย. 63
20:08
1,136
Logo Thai PBS
ถอดรหัส พิรุธอาชญาบัตรสำรวจเหมือง "จันทบุรี"
ถอดรหัสบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่ จ.จันทบุรี พบเชื่อมโยงเครือบริษัท คิงส์เกต อาจตั้งบริษัทลูกที่เกาะมอริเชียสเลี่ยงภาษี สะท้อนเคสบริษัท อัครา ส่อแววผิดเงื่อนไขใช้ธุรกรรมอำพรางเข้ามาลงทุนในไทย อ้างสัญชาติบริษัทแม่สู้คดี

จากข่าวเหมืองทองจันทบุรีไทยพีบีเอส ตรวจสอบโครงสร้างของบริษัท ริชภูมิ ที่ต้องการเข้ามาทำเหมืองนี้ ซึ่งสาวไปถึงต้นตอมีบริษัท คิงส์เกต เป็นบริษัทแม่ บริษัทเดียวกับที่ลงทุนในเหมืองทองอัคราซึ่งเป็นข้อพิพาทกับรัฐบาลไทยในขณะนี้ เมื่อตรวจสอบเชิงลึกจะพบว่า บริษัท คิงส์เกต ใช้ "บริษัทลูก" ที่ตั้งอยู่ใน "มอริเชียส" เข้ามาลงทุนในไทย แต่กลับใช้สถานะของบริษัทแม่ที่อยู่ในออสเตรเลียสู้คดี


คดีล่าสุดกรณีเหมืองทองจันทบุรี ที่มีบริษัท ริชภูมิ พยายามขออาชญาบัตรเข้าไปสำรวจแร่ พบว่าบริษัทนี้ ถูกบริษัทแม่ลงทุนถึง 3 ทอด เริ่มด้วยบริษัท คิงส์เกต จับมือกับบริษัท อัครา ลงทุน บริษัท อิสระไมนิ่ง จากนั้นให้ บริษัท อิสระไมนิ่ง ไปลงทุนในบริษัท ริชภูมิ ซึ่งไม่ทราบเงื่อนไขแน่ชัดว่าทำไมต้องลงทุนหลายทอด และไม่รู้ว่ามีเจตนาจะอำพรางกลุ่มนักลงทุนหรือไม่

เมื่อตรวจสอบไปยัง "บริษัท อัครา" ซึ่งร่วมลงทุนในโครงสร้างนี้ พบว่า ช่วงแรกเป็นการ่วมระหว่าง บริษัทคิงส์เกต แคปปิตอล บริษัทลูกของ บริษัท คิงส์เกต และ น.ส.ณุชรีย์ ต่อมา พร่องถ่ายหุ้นให้กับ บริษัท เอเชีย โกลด์ ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่า ทั้ง 2 บริษัทนี้ล้วนเป็น บริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต ที่ตั้งอยู่ที่ "เกาะมอริเชียส"


สำหรับเหตุผลที่บริษัทจากประเทศออสเตรเลียไปตั้งบริษัทลูกที่เกาะมอริเชียสนั้น เนื่องจากประเทศมอริเชียสมีอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ซึ่งปกติมอริเชียส จะเก็บภาษีเงินได้แค่ 3% หรือน้อยกว่านั้น มอริเชียสจึงได้รับความนิยมในการเป็นทางผ่านการลงทุน หรือก็คือการเลี่ยงภาษี

ขณะที่บริษัท อัครา อ้างบริษัทแม่เป็นบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย และใช้ข้อตกลง TAFTA หรือข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ในการสู้คดี แต่เมื่อตรวจสอบที่มาของบริษัท อัครา กลับพบว่า บริษัท คิงส์เกต ที่มาลงทุนใน "บริษัท อัครา" เป็นบริษัทลูกชื่อว่า "บริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล" ที่ตั้งอยู่ "มอริเชียส" แล้วบริษัท อัครา จะอ้างข้อตกลง TAFTA ได้หรือไม่


ทั้งนี้ กรณีพิพาทที่เกิดขึ้น ทั้งคดีเหมืองทอง จ.พิจิตร หรือคดีเหมืองทอง จ.จันทบุรี ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า "บริษัท อัครา" ล้วนมีที่มาจากต่างชาติ และอาจผิดเงื่อนไข BOI ที่ห้ามต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในทางปฏิบัติ บริษัท คิงส์เกต ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่จริง แต่ก็ใช้ "คน" เข้ามาถือหุ้น หรือบริษัทลูกเข้ามาถือหุ้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้แม้ไม่ผิดเงื่อนไข BOI แต่เป็นเงื่อนไขที่ไทยต้องทบทวนหรือไม่ เพราะในทางปฏิบัติเท่ากับเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยผ่านการใช้ธุรกรรมอำพราง ซึ่งอาจไม่ใช่บริษัท คิงส์เกตที่เป็นคนคุมเกม แต่เป็นคนไทยที่พยายามสร้างผลประโยชน์จากเกมนี้ 

ย้อนรอยค้านสำรวจเหมือง จันทบุรี ปี 49

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามสำรวจพื้นที่ แก่งหางแมว จ.จันทบุรี หวังที่จะทำเหมืองในพื้นที่นี้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านที่กลัวว่าจะเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของเกษตรกร-ชาวสวนเมืองจันทร์ ล่าสุด ตั้งเป้าล่ารายชื่อกว่า 200,000 รายชื่อ เพี่อคัดค้านการสำรวจเหมือง หลังมีอุตสาหกรรมจังหวัดติดประกาศ กรณีบริษัท รัชภูมิ ไมนิ่ง ยื่นขออาชญาบัตรสำรวจเหมือง

ความพยายามสำรวจแร่ เริ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2549 เมื่อ บริษัท ริชภูมิ ยื่นขออาชญาบัตรสำรวจเหมือง ต่อมาเริ่มสำรวจในปี 2558 แต่ถูกชาวบ้านคัดค้าน จนต้องพับแผนไป กระทั่งมีประกาศ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ปี 2560 ตามมาท่าทีของ รมว.อุตสาหกรรม ที่เปิดทางให้ บริษัท ขอยื่นอาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมือง แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ชาวบ้านไม่คัดค้าน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ต่อมาปี 2562 พบว่า มีบริษัทยื่นขออาชญาบัตรแล้ว 10 ราย พื้นที่กว่า 100 แปลง ครอบคลุ่มพื้นที่ 12 จังหวัด ทัวประเทศ

 


ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัด ยืนยันว่า การปิดประกาศ เป็นเพียงการเริ่มต้นขั้นตอนการสำรวจเหมือง หากชาวบ้านไม่เห็นด้วย ก็จะส่งข้อมูลไปยัง กรมอุตสาหกรรมฯ พิจารณา ซึ่งตามขั้นตอน ต่อให้ผ่านขั้นรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านไปแล้ว ก็ยังต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ เช่น เจ้าของโฉนดที่ดิน หรือ กรมป่าไม้ และต่อให้สำรวจแร่ แล้วพบแร่ก็ยังขุดแร่ไม่ได้ และต้องเข้าสู่กระบวนการขอ "สัมปทาน" ต่อไป

แม้การดำเนินการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจ ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจตามาในอนาคต รวมถึง "ผลประโยชน์" ที่ประเทศจะได้รับ ยิ่งสาวไปถึงที่มาของบริษัท รัชภูมิ ไมนิ่ง ยิ่งพบความเป็นไปได้ ว่าเป็นบริษัทต่างชาติ 100% ที่หวังเข้ามาเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติในไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง