ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักข่าวลาออก - นักวิชาการห่วงสื่อประกอบสร้าง "ลุงพล" คนต่อไป

สังคม
9 ก.ย. 63
14:41
15,652
Logo Thai PBS
นักข่าวลาออก - นักวิชาการห่วงสื่อประกอบสร้าง "ลุงพล" คนต่อไป
หัวหน้าช่างภาพ และนักข่าวช่องดังลาออก ชี้สื่อมวลชนนำเสนอคดีความเป็นเรียลลิตี้ เพื่อเรตติ้ง นำพาสังคมมาถึงกระแสลุงพลฟีเว่อร์ ด้านนักวิชาการห่วงการทำข่าวโดยไร้ขอบเขตอาจประกอบสร้างลุงพลคนต่อไป ชี้ #แบนลุงพล เป็นพลังสังคมกดดันสื่อทำหน้าที่ให้ถูกต้อง

วันนี้ (9 ก.ย.2563) นายทรงพล เรืองสมุทร หัวหน้าช่างภาพโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอโทษกับความเน่าเฟะกรณีลุงพล ป้าแต๋น และบ้านกกกอก จากน้ำมือของ “สื่อมวลชนอย่างพวกเรา” ที่หยิบยื่นให้กับสังคม ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา

ผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าช่างภาพข่าวของหนึ่งในสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอข่าวนี้มาโดยตลอด ผมทำงานที่นี่มา 6 ปี ตั้งแต่วันแรกของการออกอากาศ จนวันนี้ไม่สามารถอดทนกับเรื่องที่เกิดขึ้นและได้ตัดสินใจเดินออกมาแล้ว

จากคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ ที่ถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งและ “ผมคือหนึ่งในนั้น” ที่มีส่วนทำให้คดีความ 1 คดี กลายเป็นเรียลลิตี้ชีวิตของลุงพล-ป๋าแต๋น เรียลลิตี้ความแตกแยกของครอบครัวๆหนึ่ง ชีวิตคนในหมู่บ้านกกกอก เรื่องไสยศาสตร์ ความงมงาย และการมอมเมา “เราขายข่าวรายวัน” “เราหน้าไม่อาย” “เราไม่สนผิดถูก” “เราไร้จรรยาบรรณ” คือสิ่งที่สังคมตั้งคำถาม และมันถูกต้องทั้งหมด

การนำเสนอเรื่องราวที่ห่างไกลจากสิ่งที่ควรจะเป็นจนกู่ไม่กลับ หาประโยชน์และปล่อยให้กลุ่มคนที่ต้องการผลประโยชน์จากเรื่องนี้เข้ามารุมทึ้ง “เราอยากได้กระแส และต้องการเพียงแค่ยอดคนดู ยอดกดไลก์ ยอดแชร์” บางคนแก้ต่างว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สื่อฯ ทำไปเพื่อตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของคนในสังคม หรือช่วยเหลือให้ชาวบ้าน 2 คนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

มันไม่ใช่แค่สิ่งนั้นแน่นอน มันคือผลประโยชน์ทั้งนั้น ยอมรับกันสักทีเถอะว่า “เรา” คือตัวแปรสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวทั้งหมดนี้ เพราะหิวกระหายเรตติ้งกันเหลือเกิน “เรตติ้ง” คือทุกสิ่งทุกอย่าง  “เรตติ้ง” คือปัจจัยที่จะบอกได้ว่าคุณอยู่หรือไป และ “เรตติ้ง” ก็กลายเป็นข้ออ้าง ที่ทำให้คนบางกลุ่มยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้มา ผมเป็นหนึ่งคนที่รับรู้เรื่องราว ที่ถูกสร้าง ปั้นแต่งและถูกนำเสนอผ่านหน้าจอมาโดยตลอด และตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า “พวกเราทำอะไรกันอยู่” “มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ ไม่ใช่ความแปลกใหม่ ไม่ใช่ห่าอะไรทั้งสิ้น”

วันนี้ ผมซึ่งระลึกเสมอว่าตัวเองเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ และพยายามจะแก้ไขอะไรบ้าง แต่สุดท้าย ผมขอยอมแพ้กับความบิดเบี้ยว และยอมรับว่าตัวเองไม่สามารถท้วงติง หรือเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นจากต้นทางได้ ทุกอย่างยังดำเนินต่อไป ด้วยเหตุผลที่สรรหากันมา

ผมขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด และหวังว่าเมื่อเหตุการณ์จบลง ทั้งเราและคนดูบางกลุ่มน่าจะได้บทเรียนจากเรื่องนี้บ้าง และขออย่าเหมารวมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพทั้งหมดของ “สื่อมวลชน” ผมยืนยันว่าในสภาวะที่มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเผชิญ วันนี้ยังคงมีเพื่อนสื่อมวลชน ที่พยายามทำหน้าที่ของตัวเอง ทำหน้าที่ของสื่ออย่างที่ควรจะเป็นให้ได้ดีที่สุด ผมขอบคุณและขอให้กำลังใจเพื่อนสื่อมวลชนที่ยังยืนหยัดทำหน้าที่อย่างถูกต้องต่อไป

นักข่าวแก้ระบบไม่ได้ ต้องยอมถอยออกมา

ขณะที่ นายศักดิ์ดา วรรณสุทธิ์ ผู้สื่อข่าวช่องดัง ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ยุติบทบาทในฐานะผู้สื่อข่าว” เพื่อนหลายคนเห็นโพสต์นี้คงตกใจ ว่าเกิดอะไรขึ้น? ต้องบอกก่อนว่า ทำงานกับทางช่องระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน รู้สึกขอบคุณที่ช่องให้โอกาสเสมอมา แต่เมื่อทำงานมาเรื่อยๆ หลายๆ อย่าง อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวังเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถฝืนความรู้สึกตัวเองและเดินต่อต่อไปได้ เราตัดสินใจไปคุยกับ รอง ผอ.ฝ่ายข่าว และบอกว่า ”เราอยากพัก” ซึ่งเขาก็เคารพการตัดสินใจของเรา

อย่างที่บอกในโพสต์ก่อนหน้าว่า “รับรู้ถึงกระแสของเพื่อนๆ กับการต่อว่าสื่อมวลชน” ซึ่งเราไม่มีโอกาสได้อธิบายให้ใครฟังมากมายนัก แต่ก็ไม่อยากให้เพื่อนเหมารวมสื่อมวลชน อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าสื่อมวลชนก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ทำงานภายใต้กรอบขององค์กร และการทำงานของแต่ละองค์กรย่อมต่างกัน ฉะนั้นวัฒนธรรมองค์กรล้วนแตกต่างกันออกไปเช่นกัน ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองในบริบทของตัวเองอย่างดีที่สุดแล้ว

ในนามของเราเอง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งและเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ เราขอโทษทุกคนต่อการนำเสนอข่าวที่เกิดขึ้น จนนำพาสังคมให้มาถึงจุดนี้ได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราก็แค่ทรัพยาการบุคคลคนหนึ่ง ไม่สามารถท้วงติงหรือแก้ไขอะไรได้มาก เพราะเมื่อเราอยู่ในระบบ เราก็ต้องทำ ดังนั้นเราจึงขอถอยออกมา เพราะเราไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของระบบ

ห่วงสื่อประกอบสร้าง อาจมี "ลุงพล" คนต่อไป 

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากกรณีกระแสนายไชยพล วิภา หรือลุงพล เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนมีความนิยมในการเสพความบันเทิงแบบนี้อยู่แล้ว ทำให้เรตติ้งในช่วงที่นำเสนอข่าวเพิ่มสูงขึ้น สื่อเองก็มองเห็นถึงความนิยมนี้จึงได้มีการนำเสนอข่าวในประเด็นต่างๆ แต่สิ่งที่ตามมาคือ การไม่มีขอบเขตในการนำเสนอ จนทำให้ประชาชนแยกไม่ออกว่า "อะไรคือข่าว อะไรคือวาไรตี้ หรือเรียลลิตี้" 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า สื่อบางกลุ่มได้ประกอบสร้างลุงพลขึ้นมา เหมือนการนำเสนอข่าวสร้างฮีโร่อย่างที่เคยมีก่อนหน้านี้ ทั้งกรณีคนขับแท็กซี่ฮีโร่ที่เก็บเงินได้ แต่สุดท้ายกลายเป็นข่าวลวง หรือแม้แต่กรณีหวย 30 ล้านบาท ที่มีการประกอบสร้างครูปรีชาขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง


การนำเสนอข่าวแท้จริงแล้วควรดำเนินไปภายใต้กรอบของความเป็นจริง นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ใช่การเติมแต่งเพื่อสร้างความบันเทิง ดังนั้น หากองค์กรข่าวต่างๆ จะนำเสนอก็ต้องหาความสมดุลทั้งความอยู่รอด เรตติ้ง และความเหมาะสมของเนื้อข่าวด้วย เพราะทุกวันนี้อาจจะยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือเส้นแบ่งที่ชัดเจน แต่สภาวิชาชีพอาจต้องเข้ามาพิจารณาถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะอาจกลายเป็นปัญหาระยะยาว และในอนาคตก็อาจจะมีลุงพลคนที่ 2 คนที่ 3 ตามมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.มานะ ระบุว่า ประชาชนบางส่วนรวมถึงคนทำงานสื่อเอง ก็เริ่มมองว่าการนำเสนอข่าวลุงพลถือเป็นการล้ำเส้นประชาชน พร้อมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความตายของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ดังนั้น การเกิดกระแสแบนลุงพลขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งพลังสังคมนั้นมีอิทธิพลต่อการกดดันการทำงานของสื่อเช่นกัน จากกรณีที่ก่อนหน้านี้มีการกดดันจนเกิดการถอดสปอนเซอร์รายการ ดังนั้น หากประชาชนมองว่าสื่อทำหน้าที่ไม่ถูกต้องก็สามารถแสดงออกได้ แต่ไม่ควรคุกคามประชาชนด้วยกันเองที่ยังคงชื่นชอบการเสพสื่อในลักษณะนี้เพื่อความบันเทิง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง