สวนยางพาราเกือบ 30 ไร่ของชาวบ้าน ต.นาหว้า อ.ด่านซ้าย จ.เลย มีร่องรอยการบากเพื่อให้ยืนต้นตาย และยังปลูกต้นไม้แทรกในร่องแปลง เป็นมาตรการยึดคืน และฟื้นฟูป่าตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล โดยเจ้าของที่ดินอ้างว่า ไม่เคยได้รับแจ้งให้ออกจากพื้นที่ และ ไม่เคยได้พิสูจน์สิทธิ์การถือครองที่ดิน แต่กลับถูกยึดคืนผืนดินมรดกที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ
แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวหรือไม่ ขณะเดียวกันไม่ไกลจากแปลงยางพาราของชาวบ้านที่กำลังจะถูกยึดคืนตามกฎหมายทวงคืนผืนป่า มีแปลงยางพารากว่า 400 ไร่ของนายทุน ยังไม่ถูกยึด เช่นเดียวกับที่ดินของบริษัท ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด กว่า 6,000 ไร่ถูกยึดมานานกว่า 2 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการรื้อถอน หรือฟื้นฟู
ชาวบ้าน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ระบุว่า เขามาปลูกต้นไม้ใส่ระหว่างแถวยาง แล้วก็มาถากต้นยางเหมือนจะให้ยางตาย บอกว่ากลางคืนทำกินได้ แต่ถ้ากลางวันมาทำจะถูกจับเพราะป่าไม้ห้าม ทั้งที่ที่ดินนี้เราทำกินมา 30 ปี ที่นี่เป็นบ้าน เป็นที่ทำกินผืนเดียว ถ้าจะให้ไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน
การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติระหว่างนายทุนและชาวบ้าน รวมทั้งการดำเนินคดีที่เร่งรัดต่างกันทำให้ภาคประชาชนเรียกร้องให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการเปิดให้ชาวบ้านรวมตัวขอสัมปทานป่า หรือเช่าที่ดินเหมือนเช่นกันเดียวกับนายทุนรายใหญ่ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่เคยเกิดขึ้น
ยลชาญ กมลรัตน์ เครือข่ายภาคประชาชน จ.เลย ระบุว่า ไม่ต้องการให้เอกชนรายได้รายหนึ่งมาขอใช้ประโยชน์ เพราะป่าไม้นอกจากเป็นสมบัติของชาติ ต้องมองด้วยว่าคนในชุมชนจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งถ้าเป็นไปได้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 จะช่วยให้ชุมชนได้เข้ามาดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ได้
ขณะที่กรมป่าไม้อ้างถึงการจัดการป่าภูหมี-ป่าภูขี้นาค อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้ปี 2484 ได้มอบหมายให้หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ภูเรือ เป็นตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านการขอสัมปทานป่าของบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด เพราะอยู่ในพื้นที่ตรวจยึดเมื่อปี 2561 และ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินคดีทางทางแพ่งและอาญาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่หากเมื่อคดีแล้วเสร็จกรมป่าไม้ก็มีนโยบายส่งคืนพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ให้กับชาวบ้านเพื่อให้เป็นป่าชุมชนที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
ธวัชชัย ลัดกรูด ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) ระบุว่า ถ้าดำเนินการทางคดีเสร็จสิ้นเมื่อใด กรมป่าไม้พร้อมมอบพื้นที่ป่าให้ชุมชนดำเนินการทั้งหมดตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งกระบวนการต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับชุมชนทั้งสิ้น โดยเชื่อว่าเมื่อมีการมอบให้ชุมชนดูแลป่าชุมชนจะช่วยทำให้ไม่เกิดการบุกรุก ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ คดีบริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ของตระกูลกรรณสูต ยึดครองพื้นที่ป่าใน อ.ภูเรือ และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย กว่า 6,000ไร่ เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของนายทุนที่พยายามเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐช่วยเหลือ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นเคยถูกไล่ออกจากราชการ หรือ บางคนก็ถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนปัญหาการบุกรุกป่าของประเทศได้เป็นอย่างดี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
THE EXIT : พิรุธขอสัมปทานป่า 6 พันไร่ จ.เลย ตอน 1
THE EXIT : พิรุธขอสัมปทานป่า 6 พันไร่ จ.เลย ตอน 2