วันนี้ (28 ก.ค.2563) พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงกรณีการเข้าจับกุม นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจจนถึงแก่ความตายว่า หลังจากเกิดเหตุ ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุด้วยตนเอง แต่การที่นำผู้ต้องหาที่ไม่ใช่ผู้ต้องหาตัวจริงมามอบตัว ถือว่าเป็นการผิดตั้งแต่ต้น จึงไม่ยอม และพยายามนำผู้ต้องหาตัวจริงมาให้ได้ และเมื่อได้ตัวนายวรยุทธ ถือว่าได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนไปแล้ว และไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดี แต่ได้กำชับให้แจ้งข้อหาทุกข้อหาให้ครบถ้วน และมอบหมายให้รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งคุมงานสอบสวนในขณะนั้น ลงไปดูสำนวน และหลังจากนั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับคดี เพราะถือว่าจับกุมแล้วก็แล้วกัน
อย่างไรก็ตาม ตนเองรับไม่ได้กับการที่ผู้ต้องหาชนตำรวจแล้วไม่ช่วยเหลือ และหลบหนีไป แล้วนำผู้ต้องหาที่ไม่ใช่ตัวจริงมามอบตัว และเมื่อลงไปในสถานที่เกิดเหตุ รู้สึกสลดใจที่เห็นเครื่องหมายนายดาบตำรวจ ติดอยู่ที่ใบปัดน้ำในรถ ซึ่งถือว่าต้องดำเนินคดีให้เต็มที่ แต่เมื่อหลังจากนั้น เมื่อได้มอบหมายไปแล้ว เป็นเรื่องของกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 (บก.น.5) กับสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อที่ดำเนินการสอบสวนต่อไป และไม่ได้ไปรู้รายละเอียดเกี่ยวกับสำนวน เพิ่งมารู้ภายหลังเป็นข่าวว่าสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งรู้สึกสลดใจในกระบวนการยุติธรรม และมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอัยการสูงสุด ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อนำข้อมูลที่แท้จริงมาให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งประชาชนและสังคมตัดสินไปแล้วว่าอะไรเป็นอะไร เพียงแต่จะมาชี้แจงให้สมเหตุสมผลอย่างไร ซึ่งขอให้ทำความจริงให้ปรากฏด้วย
ข้องใจพยานโผล่หลังผ่านมา 7 ปี
ส่วนการที่มีพยานหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชน และไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับสำนวน แต่จากการที่มีพยาน 2 คน ออกมาให้การ หลังจากผ่านไปแล้ว 7 ปี ซึ่งขับรถไปพบเห็นตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวว่าขับรถตามมาในที่เกิดเหตุ สามารถพิสูจน์ได้ กล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุมีอยู่ แต่ถ้าพยาน 2 คนให้การแล้วขัดต่อข้อเท็จจริง และกล้องวงจรปิดต่างๆ แล้ว จะต้องดำเนินคดีกับพยาน 2 คนนั้นด้วย ไม่ใช่หยุดอยู่แค่นี้ จะเท็จหรือไม่เท็จไม่รู้ ถ้าพิสูจน์ได้ต้องดำเนินคดีกับเขาด้วย และทำไมตอนก่อนไม่ปรากฏตัวออกมา 7 ปีแล้ว ถึงมาจำความได้ว่าขับรถตามคันนั้นไป ซึ่งไม่ใช่ จะให้การจะช่วยกัน อย่าให้ขัดต่อสายตาประชาชนและกระแสสังคม ฝากไว้เท่านั้น การที่พยานเพิ่งโผล่มาหลัง 7 ปี มองว่าไม่เชื่อถืออยู่แล้ว แต่ใครก็เชื่อก็เชื่อไป แต่การไม่เชื่อ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นพยานเท็จ ก็ต้องดำเนินคดีกับ 2 คนนี้ด้วย
ทั้งนี้ คดีนี้จะต้องทำความจริงให้ปรากฏออกมา ที่ไม่ขัดต่อสายตาประชาชน ผมรักอาชีพตำรวจ รักตำรวจ ต้องไม่ให้องค์กรเสียหาย องค์กรผมที่เคารพรักเสียหายไม่ได้ กับพฤติกรรมของการกระทำ พฤติกรรมของข้อเท็จจริงในคดีที่ปรากฏออกมาอย่างนี้ คิดว่าช่วยกันเอาองค์กรให้อยู่รอดดีกว่า อย่าไปเอาเรื่องของตัวบุคคล มองอย่างนั้น ต้องรักษาองค์กรไว้ อย่าง ผบ.ตร.ที่จะเกษียณอายุในอีก 2 เดือน เอาองค์กรไว้ องค์กรที่ท่านเติบโตมาตลอดชีวิต รักษาชื่อเสียงองค์กรไว้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นตราบาปแก่ตัวเอง และเมื่อเกษียณไปแล้วจะไม่สบายใจในประเด็นนี้ และสังคมจะประณามว่าไม่แย้งในยุคที่เป็น ผบ.ตร.ใกล้เกษียณอายุ และถ้าจะเล่นการเมืองอะไรจะตามหลอนอีกนาน ขอฝากไว้เท่านี้
ยอมรับช่องโหว่คดีนี้มีหลายช่อง
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวอีกว่า ช่องโหว่ในคดีนี้พิสูจน์ไม่ยาก แต่ช่องโหว่มีตั้งหลายช่องว่าสำนวนถึงตำรวจเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ แล้วสรุปสั่งฟ้องไปเมื่อไหร่ อัยการแทงมากี่ครั้งให้ชัดเจน ไม่ใช่แทงกันไปแทงกันมา แล้วที่ขาดอายุความไปแต่ละคดีขาดไปเมื่อไหร่ เพราะขาดไม่เท่ากันหรอกอายุความ แต่ละข้อหา ทำไมขาดไปหมดเลย และในที่สุด คดีสุดท้ายก็สั่งไม่ฟ้อง ผมว่าเอาองค์กรไว้เถอะทั้งอัยการและตำรวจ รักษาองค์กรของเราไว้ดีกว่า
ส่วนการที่อัยการกำลังประชุม เรียกสำนวนคดีมาพิจารณาใหม่ว่าจะรื้อฟื้นคดีได้ขึ้นมาอีกหรือไม่นั้น มองว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องรอฟัง แต่ตัวบทกฎหมาย ผมไม่รู้ว่าเมื่อจบไปแล้วแบบนี้ อัยการก็สั่งไม่ฟ้องไปแล้ว ทางตำรวจก็ไม่แย้งไปแล้ว ถือว่าจบไปแล้ว จะรื้อฟื้นได้ไหม ผมไม่ทราบ ขอไม่ตอบในประเด็นนี้ เพราะไม่ทราบกฎหมายที่ชัดเจน ส่วนการเข้าไปชี้แจงกรรมาธิการการกฎหมาย ยุติธรรม และสิทธิมนุษย์ สภาผู้แทนราษฎร ก็ชี้แจงแบบอย่างนี้ พูดได้แค่นี้ เพราะในสำนวนผมไม่รู้ และในจังหวะนั้นมีการชุมนุมและเหตุการณ์วุ่นวายในบ้านเมือง และมัวแต่วุ่นเรื่องอื่น ส่วนการเรียกความเชื่อมั่นต้องคอยกรรมการ 2 ชุดที่กำลังทำขึ้นมา