การจัดสรรงบกลางแก้ปัญหาภัยแล้งกว่า 8,000 ล้านบาท ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำลังถูกตรวจสอบบางโครงการไม่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง บางโครงการมีผู้รับเหมามาปรับพื้นที่ทั้งที่ยังไม่อนุมัติทั้งที่ตามขั้นตอนแล้วผ่านการเสนอและกลั่นกรองจากหน่วยงานรัฐ ทั้ง อปท. จังหวัด และสำนักงบประมาณ แต่ทำไม ป.ป.ช. ชี้ว่า ยังเสี่ยงทุจริต
สภาพลำห้วยยาง ใน ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ถูกขุดลอกความยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ชาวบ้านที่มีที่นาติดลำห้วย บอกว่า ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ผู้รับเหมานำเครื่องจักรมาขุดลอกจึงห้ามปรามเพราะขุดทำลายต้นไม้ที่ปลูกริมตลิ่งและนำดินมาถมนาข้าว
เช่นเดียวกับชาวบ้านอีกหลายคนต่างบอกว่าพวกเขาไม่เคยได้รับแจ้งจากเทศบาลฯ ว่ามีโครงการนี้ ซึ่งหากทำประชาคมก่อนก็ยืนยันว่าไม่เคยอยากได้โครงการขุดลอกแบบนี้ เพราะบริเวณนี้คือพื้นที่รับน้ำลำห้วยแคบ ในฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะทำให้ตลิ่งที่ถูกขุดขึ้นใหม่โดยไม่มีการบดอัดพังลงสุดท้ายลำห้วยก็กลับไปตื้นเขินเหมือนเดิม
ต้นเดือน ก.ค. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ยโสธร เข้าตรวจสอบโครงการนี้ เพราะผู้รับเหมาเข้าไปขุดลอกลำห้วยหลายจุด ทั้งที่ยังไม่มีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง
ด้านเทศบาลตำบลกุดเชียงหมียอมรับว่า การขุดลอกลำห้วย 3 จุด เป็นโครงการที่เทศบาลฯ เสนอขอใช้งบกลางที่จัดสรรเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
ต้นปี 2563 รัฐบาลจัดสรรงบกลาง ในกรอบวงเงินงบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน ภายใต้ชื่อโครงการน้ำกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยให้ อปท. ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้งส่งโครงการไปเสนอของบประมาณซึ่งจะถูกกลั่นกรองโดยจังหวัด จากนั้นส่งไปที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และท้ายสุดสำนักงบประมาณจะเป็นผู้คัดเลือกก่อนแจ้งผลมายังจังหวัด เพื่อให้แต่ละ อปท.ที่ได้รับอนุมัติโครงการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบฯ
เทศบาลตำบลกุดเชียงหมีเสนอขอโครงการไปทั้งหมด 44 โครงการ ทั้งขุดลอก สร้างฝายกระสอบทราย และฝายทางน้ำผ่านได้รับการอนุมัติทั้งหมดอยู่ระหว่างทำสัญญากับผู้รับจ้างแต่ไม่ทราบว่าผู้รับเหมารายใดมาลักลอบขุดลำห้วยก่อน
ไทยพีบีเอสตรวจสอบจุดที่มีการขุดลอกห้วยยาง บางช่วงอยู่ติดกับถนนด้านหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลกุดเชียงหมี และห่างจากอาคารสำนักงานฯ ประมาณ 500 เมตร เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นเครื่องจักรขุดลอกจากจุดนี้ได้ชัดเจน แต่ทางเทศบาลยืนยันว่าไม่ได้ไปสอบถามว่าใครขุดลอกเพราะขณะนั้นโครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติ ล่าสุดเตรียมให้นิติกรแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่มาลักลอบขุด ส่วนโครงการที่ขุดแล้วก็จะไม่ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบประมาณอีก
ไทยพีบีเอสพบว่าการเสนอขอโครงการ ภายใต้โครงการน้ำกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากฯ ของ อปท.ในหลายจังหวัด แม้จะกำหนดให้แต่ละโครงการสามารถใช้วงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้งบไม่เกิน 500,000 บาท
และแม้จะทำโครงการในลำน้ำสายเดียวกัน อย่างขุดลอกและสร้างฝายในลำห้วยเซของเทศบาลตำบลกุดเชียงหมี กลับแบ่งซอยย่อยหลายโครงการเพื่อให้วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือ อปท.สามารถเลือกผู้รับเหมาได้ โดยไม่ต้องใช้กระบวนการ e-Bidding
การซอยงบลักษณะนี้ ป.ป.ช.มองว่า มีช่องโหว่ง่ายต่อการทุจริต นายอดุลย์ วันดี ผู้อำนวยการ ป.ป.ช.ยโสธร กล่าวว่าในการเสนอโครงการ ถึงแม้จะเสนอไปแค่ 500,000 บาท ในส่วนของผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ หากปรากฎว่ามันเป็นโครงการ เช่นลำหวยเดียวกันต่อเนื่องกัน ก็ควรพิจารณาให้รวมเป็นโครงการเดียวกัน ไม่ต้องแยกซอยเป็นหลายโครงการ เพื่อให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีที่โปร่งใส่มากขึ้น
ข้อมูลจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งใน จ.ยโสธร เรียกร้องให้ตรวจสอบกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโครงการน้ำกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากฯ เพราะตั้งข้อสังเกตว่าบาง อปท.ได้ยื่นโครงการเพื่อขอใช้งบประมาณก้อนนี้ในการขุดลอกแก้ภัยแล้งแต่กลับถูกตัดโครงการ ในชั้นการพิจาณาของสำนักงบประมาณ ขณะที่บาง อปท.ได้รับการอนุมัติทุกโครงการ
ไทยพีบีเอสส่งหนังสือสอบถามรายละเอียดโครงการนี้ไปยัง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งยังอยู่ระหว่างพิจารณาชี้แจงข้อเท็จจริง