หนึ่งในนั้นคือหลักฐานที่เคยได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2555 เรื่องการใช้ความเร็วของรถ ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่อัยการลงความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
สภาพรถยนต์ของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หลังจากขับชนท้ายรถจักรยานยนต์ของดาบตำรวจวิเชียร ฝากระโปรงด้านหน้ายุบ ตัวกันชนฉีกขาด กระจกหน้ารถแตกร้าว นักวิทยาศาสตร์ บอกว่า ร่องรอยการบุบยุบหรือฉีกขาดไม่สามารถบอกความเร็วการเคลื่อนที่ของวัตถุได้แต่ที่ยืนยันได้คือการคำนวนตามหลักฟิสิกส์ดูจากการคำนวนความเร็ว ด้วยหลักฐานภาพกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์วันนั้นเอาไว้ได้
นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น 1 ใน คณะทำงานตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคดี โดยเฉพาะการคำนวนความเร็วด้วยหลักทางฟิกส์ในขณะนั้นยืนยันว่าผลการคำนวนความเร็วที่นายวรยุทธขับขี่นั้น พบว่าภายในเวลา 0.6 วินาที รถยนต์เคลื่อนที่ไปได้ 30 เมตร นั่นหมายถึงรถเลื่อนที่ด้วยความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อีกคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้านนิติวิทยาศาสตร์พิสูจนหลักฐาน พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อดีตนักวิทยาศาสตร์ (สบ.1) กลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เป็นเจ้าหน้าที่อีกคนที่อยู่ในคณะทำงานตรวจพิสูจน์หลักฐานคดีนี้
พ.ต.ต.ชวลิต เปิดเผยว่า ในวันเกิดเหตุลงพื้นที่เก็บพยานหลักฐานทั้งที่เกิดเหตุในบ้านของนายวรยุทธรวมถึงการนำรถทั้ง 2 คัน ตรวจร่องรอยรอบคันเพื่อเทียบเคียงหาตำแหน่งการชนซึ่งพบว่า เกิดการชนจากด้านหลังโดยตรงไม่ใช่การขับขี่ปาดหน้าตามที่พยาน 2 ปาก ให้การในปี 2559
ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ในสำนวนการสอบสวนครั้งแรกขัดแย้งกับคำให้การของพยาน 2 คน ที่เข้าให้การในปี 2559 อย่างสิ้นเชิง ทั้ง 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าขับขี่ตามหลังรถยนต์ของนายวรยุทธ พร้อมอ้างว่าดาบวิเชียรเปลี่ยนช่องจราจรกระทันหันปาดหน้ารถนายวรยุทธทำให้เบรกหรือหยุดรถไม่ทัน
พ.ต.ต.ชวลิต ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่าหลังถูกชนเข้าจากด้านหลังโดยตรง ทำให้ร่างของดาบตำรวจวิเชียรลอยออกจากรถจักรยานยนต์ตกกระแทกใส่กระจกหน้ารถนายวรยุทธก่อนร่างจะตกสู่พื้นถนน ส่วนรถจักรยานยนต์ล้มลงถูกชนและครูดไปบนพื้นผิวถนนตามการเคลื่อนที่ชของรถนายวรยุทธซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้พิสูจน์ได้จากร่องรอยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้การให้ปากคำของพยานยังกล่าวอ้างผลการคำนวนความเร็วของรถนายวรยุทธด้วยว่า นายวรยุทธขับขี่ด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่มีหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์รองรับ อีกทั้งเป็นการให้ข้อมูลหลังเกิดเหตุถึง 4 ปี แต่อัยการกลับรับฟังและให้น้ำหนักเชื่อถือมากกว่า การตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ของกองพิสูจน์หลักฐานที่มีการวิเคราะห์ ตรวจสอบในรูปแบบคณะทำงานในนามองค์กร