สภาพโรงหนังมาลัยรามา โรงหนังแห่งแรกในตัวเมืองจังหวัดลพบุรี ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี หลังเจ้าของถอดใจเลิกกิจการ กลายเป็นแหล่งอาศัยของลิงเข้ามาแทนที่ธุรกิจ ทำลายทรัพย์สินพังเสียหายเหลือเพียงโครงสร้างเหล็กเท่านั้น
กรรณิกา มรรคศศิธร เจ้าของโรงหนังมาลัยรามา จ.ลพบุรี บอกว่า โครงสร้างหลังคารั่วทั้งหมด ซ่อมแซมหลายครั้งจนไม่ไหว จนปล่อยตามสภาพให้มีอากาศเข้าและแสงแดดส่องเพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่ไม่แน่ใจว่าโครงสร้างเหล็กจะพังลงมาเมื่อใด เพราะไม้พังลงมาเกือบหมดแล้ว
ช่วงกลางคืนลิงเข้ามาหลบนอนในนี้เยอะมาก
ไม่เพียงแต่โรงหนังมาลัยรามาที่พบความเสียหายจากพฤติกรรมลิงแสม แต่ในอำเภอต่าง ๆของ จ.ลพบุรี และตัวเมืองลพบุรี พบลิงไม่ต่ำกว่า 7,000 ตัว
ชาวบ้าน บอกว่า สาเหตุที่ลิงเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวให้อาหารไม่เป็นหลักแหล่ง เมื่อลิงหิวจึงลงมาหากินตามพื้นที่ชุมชน
ขณะที่ประชากรลิงที่เขาสามมุก จ.ชลบุรี เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่ผ่านมา จากจำนวน 600 ตัว เพิ่มขึ้นถึง 1,200 ตัว เพราะกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าริมทางขายอาหารลิงให้กับท่องเที่ยวจนกลายเป็นธุรกิจ ลิงจึงขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วสวนทางกับการทำหมันที่ค่อนข้างยาก เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่า ลิงคือบริวารของเจ้าแม่สามมุกมานานกว่า 100 ปี
กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำรวจประชากรลิงทั่วประเทศ ในปี 2562 มีไม่ต่ำกว่า 53,058 ตัว ในพื้นที่ 173 แห่ง และพื้นที่เกิดปัญหาระหว่างคนกับลิง มีมากถึง 267 แห่ง ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ
ความขัดแย้งขั้นวิกฤต แม้การทำหมันลิงตั้งแต่ปี 2558-2562 ไม่ต่ำกว่า 7,000 ตัว แต่นายเอ็ดวิน วีค ประธานมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า มองว่า อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะขาดความต่อเนื่องในการทำหมัน หรือทำหมันน้อยกว่าจำนวนลิงทั้งหมดในพื้นที่
การสร้างนิคมลิง เป็นโมเดลที่จะสร้างแหล่งอาศัยของลิงไม่ให้รบกวนชุมชนเมือง โดยเตรียมนำร่องในพื้นที่จังหวัดลพบุรีเป็นแห่งแรก ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การจัดการแก้ปัญหาระหว่างคนกับลิงในพื้นที่ชุมชนของคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2562 แต่ขณะนี้ยังขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้แผนสร้างนิคมลิงเกิดความล่าช้า
น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า มีการศึกษาและดำเนินการเกี่ยวกับองค์ความรู้ที่ต่อเนื่อง แต่อาจติดขัดจากงบประมาณของแต่ละพื้นที่ ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดสรรงบประมาณให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการทำหมันลิง แต่โครงการใหญ่ ๆ นั้น มีแผนและข้อมูลพร้อมแล้ว เหลือการจัดสรรงบประมาณ
แผนปีนี้จะควบคุมโครงสร้างประชากรของลิง ระดมสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ แก้ไขปัญหาในหลายพื้นที่
การแก้ปัญหาแหล่งอาศัยระหว่างคนกับลิง ที่วิกฤตในพื้นที่ 12 จังหวัดทั่วประเทศ ยังคงถูกตั้งคำถามว่าภาครัฐจะแก้ปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ อีกสิ่งสำคัญคือการปรับพฤติกรรมการให้อาหารลิง ลดการปลูกฝังนิสัยและดึงดูดลิงเข้าพื้นที่ชุมชน