ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถึงเวลาเปลี่ยน ไทยทอดทิ้ง "แบบเรียน" นานเกินไปหรือยัง?

สังคม
20 ก.ค. 63
17:33
2,999
Logo Thai PBS
ถึงเวลาเปลี่ยน ไทยทอดทิ้ง "แบบเรียน" นานเกินไปหรือยัง?
หลังจากการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตัวละคร "เกี๊ยว" ในหนังสือแบบเรียนภาษาพาที ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์"ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์" นักวิชาการอิสระ ถึงแนวทางการเสนอข้อคิดเห็นและปรับปรุงแก้ไขแบบเรียน พร้อมยืนยัน ผิดได้ก็แก้ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักสูตรแกนกลาง

จากกรณีบทเรียนภาษาไทย เรื่อง เรื่อง เสียแล้วไม่กลับคืน อยู่ในหนังสือ "ภาษาพาที" ที่ได้มีการกล่าวถึงตัวละครเกี๊ยวจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์นั้น

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ "ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์" นักวิชาการอิสระ เกี่ยวกับการตั้งคำถาม ข้อกังขาในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยที่อยู่คู่คนไทยมาทุกยุคทุกสมัย

หนังสือภาษาพาทีชุดนี้ ออกตั้งแต่ปี 2559 ก็สมควรแก่เวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงเนื้อหา เพราะหนังสือของกระทรวงมีการปรับปรุงเนื้อหาอยู่แล้ว ส่วนจะปรับปรุงเนื้อหาให้ทันเด็กหรือผู้ปกครองได้หรือไม่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง


ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ เปิดประเด็นเรื่องการปรับปรุงเนื้อหาในแบบเรียนได้อย่างชัดเจน โดยมองว่า ชุดความคิดเดิมที่ถ่ายทอดผ่านสำนวนของผู้ใหญ่ในแบบเรียน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการตั้งคำถาม และการกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

พร้อมย้ำว่า ทางเดียวที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้ คือ ต้องเปิดให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม เช่น คนที่รณรงค์เกี่ยวกับปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้อง อาจจะทำแคมเปญแล้วยื่นเรื่องไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหน่วยงานย่อมรับฟังและอาจนำไปสู่การแก้ไข

คำพวกนี้เด็กไม่จำเป็นต้องรับรู้จากแบบเรียน เนื้อหายังไปขัดแย้งกับหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา ชั้น ป.2 และ ป.5 ที่สอนให้นักเรียนต้องไม่ใช้คำพูด แปะป้าย หรือบูลลี่ บุคคลอื่น ดังนั้น ถ้าถามว่า เกี๊ยวใจแตก สมควรที่จะมาเขียนไว้ไหม ก็ไม่สมควร

เมื่ออ่านบทเรียนเกี๊ยวไปเรื่อยๆ ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "แบบเรียนนนี้ไม่ใช่ไม่พยายามบูรณาการ" เพราะในหน้าต่อ ๆ ไป มีการนำเรื่องสมัยใหม่ของสังคมเข้าด้วย เช่น หุ่นยนต์ เพียงแต่ยังไม่ทันสมัยเพียงพอ โลกยุคนี้บูรณาการไปได้ไกลกว่านี้แล้ว เพราะนักเรียนและผู้ปกครองเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ได้มากมาย และล้ำหน้ากว่ามากจากเทคโนโลยี 


แม้บทเรียนเกี๊ยวอาจจะไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของหนังสือแบบเรียนภาษาพาที เพราะกำหนดไว้เพื่อสร้างความเข้าใจในความดีความงามของวัฒนธรรมไทย ดังนั้น เรื่อง "ใจแตก" ก็ชัดเจนว่าไม่น่าจะเอามาเล่าไว้ในแบบเรียน มากไปกว่านั้น กลวิธีการเขียนที่มีปัญหาและไม่ทันสมัย ยิ่งทำให้ "เกี๊ยวไม่ได้ตอบโจทย์" แต่ส่วนอื่นๆ ของแบบเรียนภาษาพาที บางเรื่องก็ยังได้ทำหน้าที่ในการเล่าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นและประวัติศาสตร์อยู่ ส่วนจะดีไม่ดีถูกไม่ถูกก็อีกเรื่องหนึ่ง

ประเทศไทย กำลังทอดทิ้งแบบเรียน?

หนังสือแบบเรียนที่ใช้ในสังคมไทย ถ้าไม่มี COVID-19 ก็อาจจะไม่มีใครเจอปัญหาอย่างเรื่องของเกี๊ยว หรือเจออยู่แล้วก็ดราม่ากันสั้น ๆ แล้วก็จบไป แต่สาเหตุที่เกี๊ยวกลับมาเป็นกระแสในสังคมอีกรอบ เพราะหลายๆ คนมีเวลาอ่านมากขึ้น ทั้งที่มันถูกทอดทิ้งมากี่ปีแล้ว


ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ ย้ำว่า สังคมไทยทอดทิ้งแบบเรียนมานานแล้ว อาจเพราะความรู้สึกด้านลบที่มีต่อแบบเรียน เนื่องจากแบบเรียนในประเทศไทยเพิ่งพัฒนาอย่างเป็นทางการหลัง พ.ศ.2504 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ก็ลองผิดลองถูกมาหลายสิบปี ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น ดังนั้นต้องยอมรับว่า แบบเรียนก็ใหม่ขึ้นมากแล้ว แต่ที่ยังหลงเหลืออยู่คือการสอดแทรกความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นเก่า และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ยกตัวอย่างพ่อแม่อายุ 30- 40 ปี ที่มาเจอคำว่าใจแตกอาจจะตกใจ ในขณะที่นักเรียนไปดูซีรี่ส์ มันมีพฤติกรรมที่มากกว่านี้อีก แต่ทำไมเด็กรับได้ นั่นเพราะกลวิธีในการสื่อสารและบริบท ดังนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เด็กต่อต้านไปทุกเรื่อง แต่การสื่อสารมันไม่นุ่มนวล หรือไม่เหมาะสม ขาดศิลปะ

ความหวังของแบบเรียนในสังคมปัจจุบัน

การทำหนังสือของกระทรวงมีกระบวนการอยู่แล้ว คือ รับต้นฉบับมาจากอาจารย์ผู้เขียน มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจ ดังนั้น หนังสือทุกเล่มในรายวิชาพื้นฐานจะผ่านการตรวจ บางเล่มมีการนำไปทดลองใช้ด้วย ดังนั้น ก็จะผ่านตาอาจารย์หลายท่าน และในบางวิชามีการแก้ไขหลายรอบ อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรงนี้ยังต้องพัฒนาต่อไปอีก จึงอยากให้สังคมพิจารณาเป็นรายเล่มไปไม่ควรสื่อสารอย่างเหมารวม ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกแง่ลบต่อหนังสือแบบเรียนทั้งหมด

ทุกวันนี้หลายคนอาจหมดความเชื่อมั่นแล้ว แต่ครูอยากให้ความเชื่อมั่นว่า หนังสือเรียนนั้นมีการตรวจหลายรอบจริงๆ จะบอกว่าไม่ตรวจนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าสังเกตดีๆ จะมีคำผิดน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ดังนั้น กระบวนการนี้ใช้เวลาเป็นปี แก้เป็น 10 ครั้ง ส่วนคุณภาพของการตรวจอันนั้นก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะในบางวิชา ข้อความบางอย่างอาจเกินความรู้เด็ก คณะกรรมการก็ต้องเอามาถกกัน เพราะบางคนอาจมองว่าไม่เกินแล้ว เด็กยุคนี้พร้อมรับแล้ว แต่บางคนก็มีสิทธิที่จะเห็นต่าง และเมื่อผ่านการตรวจและปรับแก้หลายครั้งแล้ว กระทรวงจึงอนุญาตให้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งมีระยะเวลา ขอย้ำให้มั่นใจว่า หนังสือถูกแก้ได้เสมอ ขอเพียงสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและให้ข้อเสนอแนะอย่างจริงจัง เพราะเมื่อมีการเขียนรอบใหม่ก็จะได้มีการปรับปรุง แก้ไข ตัดทอน ทั้งสำนวนภาษา หรือเรื่องที่เป็นปัญหาเพื่อทำให้ภาพรวมหนังสือมีคุณภาพขึ้น

สำหรับใครที่ต้องการเสนอแนะ สามารถทำได้โดยการทำจดหมายไปที่สำนักวิชาการของกระทรวงฯ ถ้าเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมอาจส่งเรื่องไปก่อน แล้วขอคำแนะนำว่าสามารถมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง ดังนั้น ข้อเสนอก็ส่งมาได้ ไม่มีการปิดกั้น 


นอกจากหน่วยงานหรือกลุ่มคนที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองก็สามารถช่วยตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับครูซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดและสำคัญกว่าหนังสือ หนังสือเป็นเพียงกรอบที่มีวางแนวทางอยู่อีกชั้น ดังนั้น ครูสามารถเลือกจัดกิจกรรมการสอนได้ หลักสูตรปัจจุบัน พ.ศ. 2551 แก้ไขปรับปรุง 2560 ได้ให้แนวทางที่อิสระในการจัดการเรียนรู้พอสมควร ครูสามารถเลือกสอนแต่ขอให้วัตถุประสงค์ครบตามหลักสูตร "ถ้าครบก็จบ" ดังนั้น หากครูบอกว่าจะไม่สอนเรื่องเกี๊ยว และไปเลือกบทอ่านร่วมสมัยจากหนังสือเล่มอื่นมาทดแทนก็ทำได้

ต้องเชิญชวนเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเขารับไม้ต่อได้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวอยู่ในกระแสผ่านโซเชียล ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ แต่ระหว่างนี้ผู้ใหญ่ก็ต้องพัฒนาแบบเรียนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้เขาเข้ามารับไม้ต่อนี้ได้ดีด้วย นั่นคือหน้าที่ของผู้ใหญ่ คือเปิดกว้างและสร้างสรรค์

ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "ถามว่าแบบเรียนยังต้องเป็นความหวังของสังคมอยู่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่" เแบบเรียนยังเป็นสื่อการเรียนรู้ที่กระจายความรู้ไปสู่ภูมิภาคได้ดีกว่าสื่ออื่น ดังนั้น เราต้องคิดถึงนักเรียนที่อยู่ห่างไกลและยังขาดแหล่งเรียนรู้ด้วย จึงเป็นเหตุผลให้แบบเรียนควรพัฒนาให้ดีกว่าสื่ออื่น กล่าวคือ แบบเรียนควรเป็นแหล่งเรียนรู้หลัก เพราะอยู่กับนักเรียนตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ต้องใช้เวลา บางครั้งก็มีข้อจำกัด เช่น การต้องผลิตให้ทันปีต่อปี แต่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหนังสือเรียนอย่างสร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าผู้เขียนย่อมมีเจตนาที่ดี พร้อมรับฟังและแก้ไขอยู่แล้ว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โซเชียลกังขา บทเรียนตีตราให้ “เกี๊ยว” ใจแตก ?

“แบบเรียน” พื้นที่ช่วงชิงอำนาจสู่โอกาสส่งต่ออุดมการณ์

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง