รายชื่อคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุบ้านดอนไผ่-บ้านม่วง ที่นำเงินที่สมาชิกจ่ายเป็นค่าทำศพรายเดือนไปใช้จ่ายกว่า 8,500,000 บาท ถูกส่งมอบให้พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรโพธิ์ตาก ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวหาว่า กรรมการแต่ละคนนำเงินไปใช้ในลักษณะการกู้ยืมตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านบาท
มัลลิกา ยอม อดีตเหรัญญิกของชมรมฯ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการทั้ง 8 คนที่กู้ยืมเงินชมรมมา 1,200,000 บาท และเริ่มพบความผิดปกติของชมรมเมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 เมื่อคณะกรรมการทำหน้าที่เก็บเงินจากสมาชิกโดยตรง ไม่ส่งเงินให้เหรัญญิก เมื่อเป็นเช่นนั้น เงินที่เธอเก็บจากสมาชิกในสายทั้ง 91 คนก็ถูกเก็บไว้เช่นกัน
ชมรมผู้สูงอายุ บ้านดอนไผ่-บ้านม่วง มีสมาชิกราว 2,000 คน สมาชิกทั้งหมดจะจ่ายเงินกับคณะกรรมการ หรือ ตัวแทนโดยตรง ซึ่งกรรมการที่เก็บเงินจะได้ค่าจัดเก็บร้อยละ 10 ต่อเดือนเพื่อเป็นค่าตอบแทนให้กับกรรมการ เมื่อเก็บเงินได้จะต้องส่งให้เหรัญญิกเพื่อจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ระยะหลังกรรมการกลับไม่ส่งเงิน แต่ใช้วิธีตกลงกันว่า หากสายสมาชิกคนใดเสียชีวิต กรรมการที่เก็บเงินสายนั้นจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าทำศพ
เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2563 เริ่มมีแจ้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า ชมรมฯ ล่ม จากนั้นกลางเดือน มี.ค. สมาชิกทยอยเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการ ข้อหาฉ้อโกง แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ ขณะที่กลางเดือนเมษาย.ตำรวจ และฝ่ายผู้ปกครองเรียกทั้งสองฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ย ฝ่ายคณะกรรมการขอจ่ายคืนเฉพาะเงินต้น ผ่อนจ่ายเป็น 4 งวด แต่สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ยินยอม ขอรับเงินคืนเป็นก้อนทั้ง 20,200 บาท เมื่อเป็นคดีความ คณะกรรมการบางคนเริ่มนำเงินไปจ่ายคืนให้กับสมาชิกในสาย อย่าง มัลลิกา ยอม นำเงินต้นไปคืนสมาชิกทั้ง 91 คน เพื่อยุติปัญหา
ไทยพีบีเอส สำรวจที่ตั้งของชมรมผู้สูงอายุบ้านไผ่-ดอนม่วง ไม่พบความเคลื่อนไหว แต่ได้ข้อมูลว่าคณะกรรมการชมรมยังคงเจรจาขอจ่ายเงินคืน ระหว่างนี้พนักงานสอบสวนยังคงสอบปากคำผู้เสียหาย ไปแล้วกว่า 200 ปาก จากผู้เสียหายเกือบ 2,000 คน มูลค่าความเสียหายเกือบ 5,000,000 บาท
ทั้งนี้ การตั้งชมรมผู้สูงอายุที่เข้าข่ายในลักษณะฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ทำให้จังหวัดหนองคายสั่งการให้นายอำเภอโพธิ์ตาก สำรวจทุกหมู่บ้านว่าดำเนินการในลักษณะนี้อีกหรือไม่ พร้อมออกหนังสือแจ้งเตือนว่าการตั้งชมรมในลักษณะนี้ผิดกฎหมาย ไม่เพียงแต่เฉพาะชมรมผู้สูงอายุบ้านไผ่-ดอนม่วงเท่านั้น ที่ต้องยุติการดำเนินงาน แม้แต่สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อการเกษตร จ.อุดรธานี ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องก็มีสภาพล้มกิจการไม่ต่างกัน จากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดการบริหารงานของคณะกรรมการ มากกว่าการเรียกเก็บเงินไม่ได้จากสมาชิก