ปี 2562 ฐานิดา อนุอัน ผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา ตัดสินใจเดินเท้าออกจากบ้านเกิด จ.กาฬ สินธุ์ ถึงกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 600 กิโลเมตร เพื่อเปิดโปงขบวนการหักหัวคิวจ้างงานคนพิการทั่วประเทศ
ฐานิดา ดูแลคนพิการในบ้าน 3 คน เธอได้รับสิทธิ์การจ้างงาน มาตรา 35 แต่นายกสมาคมคนพิการในจังหวัด ปกปิดสัญญายึดสมุดบัญชี บัตร ATM ไว้ มูลค่าจ้างงาน 100,000 บาท แต่ได้รับจริงหลักหมื่นบาท นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้ของคนพิการ
ฐานิดา พ้นข้อกล่าวหาร่วมทุจริต เธอได้รับสิทธิ์จ้างงานมาตรา 35 จากเอกชนอีกครั้งในปีนี้ และนำเงิน 1 แสนบาทซื้อวัวมาเลี้ยง สร้างอาชีพ จากที่เคยขายวัวไป เพื่อเป็นทุนในการเดินต้านโกง
ไทยพีบีเอส ตรวจสอบการทุจริตหักหัวคิวคนพิการ พบกรณีนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวคนพิการใน จ.สมุทร สาครเกือบ 20 คน สมใจ ลิ้มสวัสดิ์ ได้รับสิทธิ์จ้างงานมาตรา 35 แทนหลานพิการ เธอให้ข้อมูลว่า ปีแรกได้เงินเพียง2,000 บาท ปีที่ 2 นายกสมาคมพิการในจังหวัด พาไปถอนเงินที่ธนาคาร 69,500 บาท จากยอดโอนเข้ามา 10,000 บาท พร้อมคนพิการคนอื่นๆ ที่ถูกกระทำเหมือนกัน
ช่องโหว่ของกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ทำลายโอกาสการทำงานของคนพิการหลายคน เอกชนหลายแห่ง ไม่ต้องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน พก.มาตรา 34 จึงเลือกจ้างงานคนพิการมาตรา 33 และส่งเสริมอาชีพมาตรา 35 ช่วยคนพิการ
แต่การจ้างผ่านองค์กรคนพิการที่กลับมีพฤติกรรมคล้ายนายหน้า ทำให้ผู้นำคนพิการหักหัวคิวกินส่วนต่าง ได้เพียง 500-6,000 บาทเท่านั้น และช่องโหว่สำคัญคือ ระหว่างจ้างงาน กลับไม่มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าคนพิการได้รับเงินและอาชีพจริงหรือไม่
การออกมาเปิดโปงขบวนการโกงเงินคนพิการ ทำให้วงการคนพิการตื่นตัว เมื่อมีกลุ่มคนพิการกล้านำปัญหาที่เคยซุกใต้พรม ออกมาเปิดเผยทำให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เตรียมยกร่างกฎหมายใหม่ อุดช่องว่างกฎหมายบังคับใช้ในปี 2564 ให้องค์กรคนพิการต้องขึ้นทะเบียนกับ พก.
ศ.วิริยะศิรินาม พงษ์พันธุ์ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ระบุว่า หากกฎหมายไม่เปิดช่องให้คนโกงไม่มีการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อให้เกิดการทุจริต จากข้อมูลของ พก.เอกชนจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 60,000 คน นับเป็นโอกาสสร้างงานและรายได้ ให้คนพิการเท่าเทียมพึ่งพาตัวเองได้ไม่เป็นภาระต่อสังคม