ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ตั้งอยู่บนที่ดิน 37 ไร่ อาคารหลังแรกที่ติดกับถนนสร้างด้วยเงินของชุมนุมสหกรณ์ที่กู้จากธนาคารออมสิน แต่กลุ่มอาคารด้านหลัง คือ โรงงาน 5 แห่ง สร้างด้วยงบกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนกว่า 193 ล้านบาท ในปี 2560 ประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตที่นอนยางพารา โรงงานผลิตหมอนยางพารา โรงงานยางแผ่นรมควัน และที่กำลังก่อสร้างฐานรากคือ โรงงานยางรมควันอัดก้อน ซึ่งตามโครงการ การก่อสร้างทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายในปี 2561 ผู้ที่อาศัยใกล้กับที่ตั้งโรงงาน ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า การก่อสร้างมีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนผู้รับเหมาหลายรายที่มารับช่วงงานต่อจากบริษัทคู่สัญญา
โครงการก่อสร้างโรงงาน พร้อมจัดซื้อเครื่องจักร และอุปกรณ์ ล่าช้าเกือบ 2 ปี จากเอกสารพบว่ามีชื่อเจ้าหน้าที่ ตำแหน่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ ขณะนั้นเป็นผู้เสนอโครงการ และเจ้าหน้าที่ตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนฯ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โครงการนี้อนุมัติโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ปัจจุบันทั้ง 3 คนย้ายไปงานในพื้นที่อื่นแล้ว แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องตรวจสอบย้อนหลังถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ในขณะนั้น
ขณะที่กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน อนุมัติงบประมาณกว่า 193 ล้านบาท สร้างโรงงานแปรรูปยางพารา ในที่ดินของชุมนุมสหกรณ์ฯ เมื่อปี 2560 เพื่อให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรบริหารจัดการโรงงาน ตามเป้าหมายผลักดันให้จังหวัดบึงกาฬ เป็นศูนย์กลางแปรรูปยางพารา และแก้ปัญหาเอกชนกดราคารับซื้อน้ำยางพาราให้ตกต่ำ แต่โครงการขนาดใหญ่ มีทั้งการก่อสร้างและจัดซื้อเครื่องจักรมูลค่าหลายล้านบาท ถูกตั้งคำถามว่า มีการศึกษาความเป็นไปได้โดยละเอียดหรือไม่ และอะไรคือความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดจัดทำโครงการ
การออกแบบก่อสร้างอาคารบางจุดไม่ได้เขียนแบบให้มีการตอกเสาเข็มตั้งแต่แรก แต่เมื่อลงมือก่อสร้างจริงพบปัญหาสภาพพื้นที่ถูกถมดินใหม่ต้องแก้แบบให้มีการตอกเสาเข็ม และใช้งบประมาณเพิ่ม การแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างล่าช้า โดยเฉพาะการแก้แบบระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างไม่ทันตามกรอบระยะเวลาโดยงบส่วนนี้ถูกตัด โรงงานนี้จึงยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย
ทั้งนี้ ภาระการหาเงินมาสร้างระบบบำบัดน้ำเสียหลังจากนี้ ตกอยู่ที่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ แต่ชุมนุมสหกรณ์ฯแห่งนี้ มีภาระหนี้สินกว่า 7 ล้านบาท ปี 2562 ถูกฟ้องร้อง หากไม่ชำระหนี้สิน ที่ดินทั้ง 37 ไร่ จะถูกยึดเพื่อขายทอดตลาด แม้ปัจจุบันธนาคารออมสิน สาขาบึงกาฬจะยืนยันว่า ชุมนุมสหกรณ์ฯสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และที่สำคัญการที่โรงงาน 5 แห่งที่สร้างขึ้นใหม่จะเดินเครื่องผลิตได้ หลังจากนี้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ต้องหาเงินอีกกว่า 60 ล้านบาทมาดำเนินการ