ปัจจุบันจำนวนชาวบ้านที่สมัครเป็นสมาชิกเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มพบปัญหาในบางจังหวัด เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการทำตามข้อตกลง แต่กลับพบว่าขอกู้เงินไม่ได้จริงตามคำโฆษณาทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่
เงื่อนไขเริ่มแรก เมื่อต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกโครงการธนาคารแสงแดดผู้สมัครต้องจ่ายเงินซื้อหลอดไฟโซลาเซลล์ติดผนัง จำนวน 1 ชิ้น ราคา 300 บาทและยังมีเงื่อนไขต่อว่า ต้องซื้อสินค้าหลอดไฟโซลาเซลล์ต่อเนื่องทุกสัปดาห์สัปดาห์ละ 1 ชิ้น เป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน นั่นหมายถึงสมาชิกต้องชำระเงินเฉลี่ยคนละ 1,200 บาท และสมาชิกที่สมัครคนแรกต้องหาสมาชิกมาเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมเพื่อให้จ่ายเงินซื้อสินค้าในวิธีการเดียวกัน
หลอดไฟพลังงานแสงอาทิตยกว่า 200 ชิ้น และเอกสารเชิญชวนพร้อมรายชื่อชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 600 คน ถูกยึดไว้เป็นหลักฐานระหว่างการตรวจสอบโครงการ "ธนาคารแสงแดดกาญจนบุรี " ขณะนี้นายมาฆะ โทณะวณิก ประธานโครงการฯ พร้อมด้วยทีมงาน 4 คน ถูกตำรวจเมืองกาญจนบุรี แจ้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
เมื่อสมาชิกจ่ายเงิน 300 บาท สิ่งที่พวกเขาจะได้รับ คือ โคมไฟโซลาเซลล์ติดผนัง ด้านหนึ่งเป็นแผ่นรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ อีกด้านเป็นหลอดไฟ LED 30 ดวง รายละเอียดบนกล่อง ระบุเพียงว่า ผลิตจากประเทศจีนแต่ไม่ระบุที่มา เช่น สถานที่ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย เมื่อไทยพีบีเอส ตรวจสอบราคาในเว็บไซต์ออนไลน์ พบว่า โคมไฟที่มีคุณสมบัติ และลักษณะใกล้เคียงกันมีราคาขายเฉลี่ยแล้วชิ้นละไม่ถึง 100 บาท
"ก็อยากได้กู้เงินก้อน ก็มั่นกู้เงินดอกเบี้ยถูกไง ดอกเบี้ย 1 เปอร์เซนต์ ก็เขาบอกให้ทำตามระบบของเขา" ผู้สมัครโครงการธนาคารแสงแดด ระบุ
ธนาคารแสงแดด ประชาสัมพันธ์ตัวเอง อ้างว่า เป็นนวัตกรรมด้านระบบบริหารจัดการ ช่วยให้ชาวบ้านหมดหนี้ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี และมีเงินใช้ เงินที่ได้ จะนำมาจัดสรรให้สมาชิก ในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินปลดหนี้ หรือผลตอบแทนอื่น ๆ ตัวแทนสมาชิกแบ่งหน้าที่กระจายข่าวชักชวนในหลายจังหวัด อย่างเช่น ในภาคเหนือ จัดตั้งศูนย์ประสานงานและชักชวนชาวบ้านมาฟังการบรรยาย
ไทยพีบีเอสเดินทางไปตรวจสอบที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เพราะได้ข้อมูลว่าอดีตข้าราชการครู เช่าอาคารเปิดศูนย์ประสานงานระดับจังหวัดแต่พบว่า ศูนย์ประสานงานแห่งนี้ปิดไปแล้วเมื่อ 2 เดือนก่อน
อดีตข้าราชการทหารคนนี้ เล่าว่า เขาได้รับแต่งตั้งจากประธานธนาคารแสงแดด ให้เป็นผู้จัดการระดับจังหวัด ใน จ.อุตรดิตถ์ อธิบายว่า สมาชิกธนาคารแสงแดด มี 2 กลุ่ม คือ ตัวแทนศูนย์และสมาชิกทั่วไป
ศูนย์ประสานงาน มีทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดแต่ละระดับ ต้องจ่ายเงินแลกกับสิทธิการดูแลพื้นที่เป็นรายปี ในจำนวนที่แตกต่างกันหลังจากนั้นศูนย์เหล่านี้ก็จะเป็นต้องไปประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ชาวบ้านสมัครสมาชิกและจะได้ผลตอบแทนเป็นรายหัวคนละ 140 บาท และได้ส่วนต่างหากชาวบ้านได้สิทธิกู้เงินแต่ในส่วนของสมาชิกทั่วไป หากปฏิบัติตามเงื่อนไขก็จะได้รับสิทธิในแพ็กเกจต่าง ๆ ที่มีอยู่ 14 แพ็กเกจ แพ็กเกจยอดนิยม คือ สิทธิกู้เงิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ 1 ต่อปี
"ทางธนาคารแสงแดดจะพิจารณาว่าชื่อคนนี้ เป็นคนดี มีวินัย สามารถส่งดอกพร้อมต้นได้ติดต่อ 3 เดือน สามารถให้กู้ได้ครั้งที่ 2 อีก 5 แสนบาท จนถึงครั้งที่ 5 หรือกู้ได้ถึง 2.5 ล้านต่อคน" ณภัค ทวีเจริญรักข์ ผู้จัดการธนาคารแสงแดด จ.อุตรดิตถ์
แม้จะปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่นั่นก็อาจไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าสมาชิกจะได้สิทธิกู้เงินตามที่กล่าวอ้าง อดีตข้าราชการครูคนนี้ เคยสมัครเป็นผู้จัดการระดับจังหวัดของธนาคารแสงแดดในภาคเหนือ เขายืนยันว่าได้ซื้อหลอดไฟและชวนญาติมาสมัครตามเงื่อนไขจนครบถ้วน และส่งเอกสารเพื่อขอสิทธิกู้เงิน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (2563) แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้เงินกู้
ไทยพีบีเอสตรวจสอบพบว่า สมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มธนาคารแสงแดด มีอดีตข้าราชการหลายคน เป็นตัวแทนจัดตั้งศูนย์ แต่ดำเนินงานในนามบุคคลไม่จดทะเบียนเป็นบริษัทและไม่พบข้อมูลยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานใด แม้รับโอนเงินผ่านบัญชีหลายธนาคาร แต่ทุกบัญชีเป็นชื่อของคน ๆ เดียวกัน คือ นายมาฆะ โทณะวณิก ประธานธนาคารแสงแดดและเพื่อให้ได้ข้อมูลจากอีกฝ่าย ไทยพีบีเอสได้ขอคำชี้แจงจากประธานเครือข่ายที่ใช้ชื่อว่า "ธนาคารแสงแดด"
นายมาฆะให้คำตอบว่า ธนาคารแสงแดดมีระบบการบริหารรวบรวมคนมาช่วยซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการเพื่อแลกกับเงินส่วนลด ไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง จึงไม่ต้องขออนุญาตขายตรงต่อ สคบ. ส่วนลดที่ได้จากผู้ประกอบการถือเป็นเงินส่วนตัว ที่ให้สมาชิกกู้ยืมส่วนตัวไม่ได้เป็นการให้บริการสินเชื่อเขาไม่ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่วนลดคืนจากผู้ประกอบการมากน้อยเท่าไหร่ แต่มีสมาชิกหลายคนได้สิทธิกู้เงินไปแล้ว แต่ไม่สามารถให้ดูหลักฐานได้ อ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
"ธนาคารแสงแดดชวนคนไปซื้อเขา เขาจ่ายเงินเขาได้ของไปแล้ว เขาจ่ายเงินไปเพื่อซื้อของคุณเข้าใจมั้ยครับ ได้ส่วนลด คำว่าแชร์ลูกโซ่เนี่ย เขาต้องจ่ายเงินเข้ามาแล้วหาคนอื่นต่อมาจ่ายลงทุนเข้ามา แล้วเอาเงินที่จ่ายเข้ามาเอาเงินไปต่อเงิน นี่เขาเอาเงินมาซื้อของจะเป็นแชร์ลูกโซ่ได้อย่างไร" นายมาฆะ กล่าว
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า การดำเนินงานของธนาคารแสงแดด เข้าข่ายเป็นการทำธุรกิจขายตรง และการตลาดแบบตรง ต้องขออนุญาตต่อ สคบ.
"คำถามผมนะฮะ ดวงไฟหลอดละ 300 บาท ท่านได้กำไรเท่าไหร่และต้องเสียภาษีหรือไม่ และหากนำเข้ามาจากนอกราชอาณาจักร ท่านเอามาถูกต้องหรือไม่อย่างไร ท่านต้องแจ้งผมว่าหลอดไฟเอามาจากไหนด้วย ธุรกิจมันต้องสอบถามได้ถึงขนาดนั้น แล้วสมาชิกที่อ้างว่าลงทุนหลายพันคน เรื่องของการบริหารจัดการทำคนเดียวหรอครับ มีฝ่ายบัญชีมั้ยครับ ที่ตั้งที่ชัดเจนอยู่ที่ไหน เดี๋ยวก็ต้องตรวจสอบกัน" ปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าว
ธนาคารแสงแดด เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ต้นปี 63 ประธานโครงการอ้างว่าปัจจุบันมีชาวบ้านสมัครสมาชิกแล้วถึงหลักหมื่นคน หากเป็นเช่นนั้นทุกเดือน จะมีเงินค่าซื้อหลอดไฟโอนเข้าบัญชีของผู้ดุแลโครงการมากถึง 3 ล้านบาทต่อสมาชิก 10,000 คน
แต่ขณะนี้ผ่านมาเกือบ 6 เดือน มีชาวบ้านที่สมัครในรุ่นแรก ๆ ตั้งแต่เริ่มโครงการแต่ยังไม่ได้กู้เงินเริ่มร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าวเป็นแชร์ลูกโซ่จริงหรือไม่