เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าเริ่มก่อสร้างกำแพงหินทิ้งป้องกันชายฝั่ง ตามโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะจากคลื่นกระโจน หลังแนวกำแพงหิน ความกว้าง 3 เมตร ความยาว 3,439 เมตร ลานเอนกประสงค์ขนาดพื้นที่ประมาณ 21,700 เมตร และอื่นๆ ตามที่กำหนดในแบบและรายการประกอบแบบ วงเงิน 219,935,000 บาท ระยะเวลา 900 วัน โดยเริ่มวันที่ 21 มี.ค.2562 สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ย.2564
สำหรับกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3 -7 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้เริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว โดยสร้างต่อจากแนวก่อสร้างเดิม ซึ่งเป็นจุดวิกฤตที่ถูกคลื่นกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างรุนแรง 2 ปีแล้ว จนทิวสนโค่นล้มกว่า 30 ต้น และต้องซ่อมถนนเลียบชายทะเลทุกปีตลอดมา โดยกรมเจ้าท่าทำการตรวจการทำงานของบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้าง พร้อมให้คำแนะนำ และชี้แนะบางจุดที่จะต้องเพิ่มเติมในการแสดงป้ายแจ้งเตือนในเรื่องความปลอดภัยของรถที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณที่ดำเนินการก่อสร้าง เพื่อความปลอดภัย
ภารกิจหลัก "กรมเจ้าท่า" ป้องกันตลิ่ง
นายสิทธิชัย ปั้นทอง นายช่างโยธาชำนาญงาน กรมเจ้าท่า หัวหน้าผู้ควบคุมงานก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เปิดเผยว่า ลักษณะของโครงการก่อสร้างที่เราเห็นป้องกันแนวกัดเซาะ ซึ่งปรับสภาพจากปีที่ผ่านมาที่ได้รับผลกระทบจากมรสุมและกัดเซาะพังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นภารกิจหลักของกรมเจ้าท่าในการป้องกันตลิ่ง
นายสิทธิชัย ปั้นทอง
ทั้งนี้ โครงการนี้ต่อเนื่องมาจากของเกาะแต้ว ซึ่งในปัจจุบันเป็นการดำเนินการเริ่มแรก เป็นการปรับระดับทราย ปูแผ่นใยสังเคราะห์ และลงหินฐาน ประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร ตามขั้นตอน เพื่อเป็นการสลายคลื่นคลื่นไปในตัวด้วย ส่วนสาเหตุที่มาเริ่มก่อสร้างบริเวณนี้ก่อน เนื่องจากจุดนี้เป็นจุดที่วิกฤตที่สุดในหน้ามรสุม ซึ่งอย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าทำแล้วเสร็จก่อนหน้ามรสุม อย่างน้อยๆ ก็เป็นการป้องกันระดับหนึ่งว่าถนนจะไม่พังเพิ่ม
ประชาชนอาจไม่สะดวกระหว่างก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการก่อสร้าง อาจทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาไม่ได้รับความสะดวก เพราะบางครั้งอาจจะมีรถยนต์เข้าออก แต่กรมเจ้าท่ายึดมั่นในเรื่องระบบความปลอดภัยเข้มข้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งยืนยันว่าจะพยายามจะเร่งสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ผู้สัญจรไปมาให้เร็วที่สุด