สภาพชายทะเลปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2557 ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวและชาวปากน้ำปราณ เข้าใช้พื้นที่ริมทะเลค่อนข้างคึกคัก และเห็นได้ชัดว่าในเวลานั้นแม้มีแนวกันคลื่นแล้ว แต่ยังมีหาดทรายในระดับที่เสมอกับแนวถนน
แต่สภาพปัจจุบันของทะเลปากน้ำปราณ หาดทรายไม่ได้มีเพียงแค่เม็ดทราย แต่กลับมีสิ่งแปลกปลอมคือหินและเศษปูน หลังการสร้างเขื่อนคอนกรีตกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เมื่อปี 2558
นายพิษณุพงษ์ เหล่าลาภผล ประธานกลุ่มคนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ บอกว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นทราย แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนความยาว 190 เมตร พื้นที่เปลี่ยนไปและทรายหายไปชัดเจน
เดิมตรงนี้ทำเขื่อนแบบตาข่ายครอบก้อนหิน แต่เมื่อตาข่ายแตกทำให้หินกระจายเกลื่อนเต็มหาด คนลงไปเล่นน้ำโดนเพรียงบาด และไม่เหมาะต่อการเล่นน้ำ
หลังเขื่อนที่สร้างตามแบบที่ใช้กล่องลวดตาข่ายเสียหาย มีการปรับแก้โดยการสร้างเขื่อนคอนกรีตแบบขั้นบันไดทับเขื่อนเดิม ส่งผลให้แนวกำแพงกันคลื่นที่มีอยู่เดิมพังเสียหาย
ที่สำคัญคือ ทะเลบริเวณหน้าเขื่อนมีความลึกเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เมตร เพราะคลื่นซัดแนวเขื่อนคอนกรีตและม้วนทรายไปยังบริเวณอื่น และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกว่าพื้นที่ด้านหลัง และบริเวณฐานเขื่อนถูกคลื่นเซาะจนพังเสียหาย อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี
นายศศิน เฉลิมลาภ ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า สาเหตุที่ทะเลลึกขึ้นเพราะคลื่นกระทบกับกำแพงบันไดปูนยกตัวขึ้น เมื่อน้ำหนักจะกดลงที่พื้นก็จะขุดทรายออกไป เมื่อเอาทรายออกไปเรื่อย ๆ ในที่สุดหน้ากำแพงจะไม่มีทรายเหลืออยู่
ผลของหาดทรายที่ลึกขึ้น และสิ่งแปลกปลอมที่พบบนผืนทราย ทำให้สัตว์ทะเลที่เคยมีอยู่เดิมหายไป โดยเฉพาะปูลม ซึ่งเคยพบมากบริเวณชายหาดปากน้ำปราณ แต่ปัจจุบันกลับไปพบที่ชายหาดใกล้เขากะโหลกแทน เพราะบริเวณนั้นยังไม่มีเขื่อนคอนกรีตกันคลื่น
ส่วนหาดทรายที่เคยถูกใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อน ไม่สามารถทำกิจกรรมชายฝั่งได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการลงเล่นน้ำ เพราะมีหินที่เป็นผลพวงจากการสร้างเขื่อนคอนกรีต ซึ่งภายในปี 2564 มีโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตกันคลื่นแบบขั้นบันไดระยะ 900 เมตร งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท จากจุดเตือนภัยสึนามิจนถึงศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อแก้ปัญหาแนวกำแพงกันคลื่นที่พัง และปรับภูมิทัศน์รองรับการท่องเที่ยว
นายธงชัย สุณาพันธ์ ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเทศบาลปากน้ำปราณ ระบุถึงแผนพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว
เราเป็นเมืองทางทะเล เราก็พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการประสานกับโยธาธิการและผังเมือง มีการออกแบบหลังทำเขื่อนเสร็จ จะมีการปรับภูมิทัศน์ ขยายถนนให้กว้างขึ้นทำเป็นเลนจักรยาน
แต่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลายคน กลับมีความเห็นที่แตกต่าง โดยหลายคนยืนยันว่าเดินทางมาปากน้ำปราณเพื่อสัมผัสกับหาดทราย และอาจทบทวนแผนการท่องเที่ยวหากเขื่อนคอนกรีตกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นตลอดแนว เพราะโครงสร้างคอนกรีตสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมาชายหาดปากน้ำปราณ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง The Exit : พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจกระทบปากน้ำปราณ ตอน 1