แต่หลายเดือนที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส ได้เบาะแสจากผู้ร้องเรียนว่า วนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง เปิดรับบุคลากร ให้เซ็นสัญญาบรรจุ แต่กลับเรียกเก็บเงินสินบน เพื่อแลกกับการได้เข้าทำงานในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ บางรายจ่ายเงินไป 70,000–100,000 บาท
เปิดหลักฐานค่านายหน้าเข้าทำงานถ้ำหลวง
ใบเสร็จโอนเงิน จำนวน 41,000 บาท ยืนยันได้ว่า ผู้เสียหายได้โอนให้เจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่ง ในวน อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน การโอนเงินเริ่มมีมาตั้งแต่ เดือนพ.ย.2562 เพื่อแลกกับ ค่าเรียกเก็บฝากทำงานในวนอุทยาน พร้อมๆ กับอ้างว่า จะได้เงินเดือนย้อนหลังอีก 5-6 เดือน แม้ไม่ได้ทำงานจริง
ส่วนหลักฐาน ฉบับที่ 2 เป็นกระดาษที่มีรายชื่อเจ้าหน้าที่ถ้ำหลวง และกรมป่าไม้ รวม 2 คน ระบุเลขบัญชีธนาคาร และจำนวนเงิน
ผู้เสียหายคนนี้ ระบุว่าโอนเงินกว่า 70,000 บาท เข้าบัญชีเจ้าหน้าที่ชาย และหญิง ทั้ง 2 คน ส่วนผู้เสียหายอีกคน มีสลิปเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ จำนวน 41,500 บาท ที่โอนเข้าบัญชีเจ้าหน้าที่ เมื่อเดือนก.พ.เช่นเดียวกัน และได้บันทึก ในสลิปไว้ว่า เป็นค่าฝากงาน และค่าทำบัตร
พฤติกรรมเรียกรับเงิน แลกกับการได้งาน เกิดขึ้นมานานกว่า 6 เดือน ท่ามกลางสถานการณ์ที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อยู่ระหว่างการพัฒนาฟื้นฟูงานด้านต่างๆ
ผู้เสียหาย บอกกับไทยพีบีเอสว่า เมื่อโอนเงินเสร็จ จะถูกตอบรับให้เข้าไลน์กลุ่ม ที่ตั้งชื่อว่า “พนักงานถ้ำหลวง” เพื่อสื่อสารข้อมูลระหว่างกัน และกลุ่มไลน์เดียวกันนี้ มีผู้อยู่ในไลน์กลุ่มนี้ อีกเกือบ 90 คน
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่หญิง ยังเร่งให้ผู้ที่ต้องการทำงานที่ถ้ำหลวงฯ โอนค่าเอกสาร 1,000 บาท และใช้จ่ายเพิ่มเติมค่าทำบัตรราชการอีกคนละ 500 บาท เข้าบัญชีเจ้าหน้าที่คนเดิมอ้างเป็นค่าทำบัตรพนักงานราชการ และต้องโอนอย่างเร่งด่วน อ้างว่า “ทางนาย ต้องการด่วน”
ผู้เสียหายหลายคน ส่งสลิปโอนเงิน เป็นหลักฐานเข้าไปในไลน์กลุ่ม และมีข้อความทวงการโอนเงินจากเจ้าหน้าที่หญิงคนเดิม เพื่อให้คนที่เหลือเร่งโอน ซึ่งขณะนั้น มีผู้โอนแล้ว จาก 66 คน เพิ่มเป็น 73 คน แต่ได้คำตอบว่า “หากใครไม่โอน จะโดนตัดสิทธิ์”
ผลสอบข้อเท็จจริงมีมูล-สอบวินัย
นายกมลไชย คชชา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 15 เชียงราย ที่สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่เบื้องต้นยืนยันว่า เป็นการแอบอ้างของบุคคลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน
ขณะนี้ตั้งกรรมการสอบวินัยแล้ว หลังจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มีผลสรุปพบว่ามีมูล และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ กำชับให้ตรวจสอบเรื่องให้กระจ่างโดยเร็ว
ด้านนายกวี ประสมพล หัวหน้าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ได้มอบหมายให้เข้าแจ้งความในฐานะหน่วยงานที่เสียหายไปแล้ว เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และอุทยานฯจะประสานกับตำรวจ เพื่อขอข้อมูลมาใช้ประกอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากไม่มีความชัดเจนว่า การจ่ายเงินไปแล้วอย่างน้อย 6 เดือนว่าจะได้ทำงานหรือไม่ ทำให้มีผู้เสียหายทยอยแจ้งความ และหลายคนพยายามขอเงินคืนจากเจ้าหน้าที่หญิง และชายทั้ง 2 คน พร้อมเรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบเรื่องให้เกิดความกระจ่างว่า มีผู้อื่นเกี่ยวข้องหรือทำเป็นขบวนการด้วยหรือไม่
ขั้นตอนรับสมัครคนทำงานในกรมอุทยานฯ
นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช อธิบายว่า แต่ละตำแหน่งจะแตกต่างกัน ขึ้นกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละปีกรมอุทยานฯ เปิดรับสมัครแต่ละครั้ง ตั้งแต่หลักหน่วย จนถึงไปหลักร้อยคน แตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่ต้องการรับสมัคร แต่ที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใด ก็ต้องผ่านการประกาศสอบเข้าทุกตำแหน่ง ซึ่งรูปแบบ มีทั้งการบรรจุเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งลูกจ้างประจำ และ ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว
โดยแต่ละปี ไม่ได้มีกำหนดชัดเจนตายตัวว่า จะเปิดรับสมัคร เป็นรอบๆ อย่างไร ขึ้นอยู่กับตำแหน่งการว่างงานของพื้นที่นั้นๆ ส่วนการออกประกาศรับสมัคร จะมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ เป็นผู้ออกประกาศ หรือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ของแต่ละภาค เป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็จะแจ้งให้ทางกรมอุทยานฯ รับทราบ ซี่งถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ขึ้นอยู่กับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย ซึ่งผู้อำนวยการยืนยันเบื้องต้นแล้ว่า เป็นการแอบอ้างของบุคคล