วันนี้ (15 เม.ย.2563) ที่กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวัฒนะ ผบช.ทท. พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบช.ก. พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง รองผบช.ทท. พล.ต.ต.วรพงษ์ ทองไพบูลย์ ผบก.ทท.1 พ.ต.อ.เกื้อกมล ดวงประทีป ผกก.1 บก.ทท.1 พ.ต.ท.ภูริทัต บุญช่วย รอง ผกก 1 บก.ทท.1, พ.ต.ท.อภิรักษ์ จำปาศรี รอง ผกก 1 บก.ทท.1, พ.ต.ต.ขวัญพล เพ็งเดือน สว.ทท.2 กก.1,บก.ทท.1 แถลงข่าวผลการจับกุมนาย พิชญพัชญ์ สมศรีอายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 19/10 ซ.นาคนิวาส 48 แยก 14 แขวงและเขตลาดพร้าว พร้อมตราประทับของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐบาล 17 อัน ใบรับรองแพทย์ โรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวน 95 ฉบับ คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ภายในมีไฟล์แบบฟอร์มใบรับรองแพทย์โรงพยาบาลต่าง ๆ 65 แห่ง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และสติ๊กเกอร์ อีเอ็มเอส ไปรษณีย์ไทย 2 เล่ม โดยจับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 19/10 ซอยนาคนิวาส 48 แยก 14 แขวงและเขตลาดพร้าว
การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีผู้ใช้สื่อออนไลน์รับจ้างทำเอกสารใบรับรองแพทย์ ใบตรวจโรค ตรวจสุขภาพปลอม ซึ่งมีชาวไทย และชาวต่างชาติ จ้างให้ทำเอกสารปลอมเพื่อไปสมัครงาน ลางาน และธุรกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
จึงสืบสวนจนทราบว่า มีผู้ใช้แอพลิเคชั่น ไลน์ ชื่อ “รับทำใบรับรองแพทย์” และเฟซบุ๊กชื่อ “รับทำใบรับรองแพทย์ ลาป่วย ตรวจสุขภาพ” โดยคิดราคาในการทำเอกสารใบตรวจสุขภาพ ตรวจโรค ตรวจปัสสาวะจากโรงพยาบาล ต่าง ๆ โดยมีตราปั๊มปลอม และแบบฟอร์มที่เหมือนตัวจริงของโรงพยาบาลแต่ละที่ เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางราชการต่างๆ ในราคาใบละ 1,000 บาท และใบรับรองแพทย์ปลอม ในกรณีลูกค้าต้องการลางาน รวมถึงใบรับรองแพทย์โรค COVID-19 ในราคาใบละ 800 บาท ต่อมาได้ร่วมกันสืบสวนจนทราบว่า มีการจัดทำเอกสารปลอมดังกล่าวที่บ้านดังกล่าว จึงนำกำลังพร้อมหมายค้นศาลแขวงพระนครเหนือ ที่ 28/2563 ลงวันที่ 13 เม.ย. เข้าตรวจค้นบ้านดังกล่าว
เปิดเพจรับงานใบรับรองแพทย์ปลอมเคลมประกัน
จากการสอบสวนนายพิชญพัชญ์ ให้การรับสารภาพว่า ได้เปิดเพจ เพื่อรับงานปลอมเอกสาร จำพวกใบรับรองแพทย์ ผลตรวจสุขภาพ ทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาได้ประมาณ 1 ปี โดยรู้จักกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ชื่อ ปั๊บ เป็นผู้ว่าจ้างอีกทอดหนึ่ง รับทำใบรับรองแพทย์ในราคาใบละ 800 บาท ตนได้ส่วนแบ่ง 400 บาท
ในส่วนของแบบฟอร์มไฟล์เอกสารใบรับรองแพทย์ โรงพยาบาลต่างๆ และตราปั้มของโรงพยาบาล น.ส.ปั๊บ เป็นผู้ส่งมาให้ โดยมีมากกว่า 65 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน และทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ฉบับ แต่ละเดือนมีเงินหมุนเวียน รายได้จากการทำเอกสารดังกล่าวเฉลี่ยเดือนละ 40,000-50,000 บาท นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ผ่านมาได้มีลูกค้าขอให้ทำใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19 โดยได้ส่งไป 4 ใบ และอยู่ระหว่างการส่งให้ลูกค้า 6 ใบ
พ.ต.อ.เกื้อกมล กล่าวว่า หลังจากนี้ฝ่ายสืบสวนจะขยายผล เพื่อสืบสวนเส้นทางการเงิน รวมทั้งหาความเชื่อมโยง ว่ามีใครร่วมขบวนการ หรือมีความเกี่ยวข้องหรือไม่ พร้อมประสานข้อมูลว่า ใบรับรองแพทย์ที่เกี่ยวกับผลตรวจโรค COVID-19 ถูกส่งต่อไปที่ใดบ้าง รวมทั้งตรวจสอบว่า มีการนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นเคลมประกันการติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายปลอมและใช้เอกสารปลอม ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.โชคชัย ดำเนินคดีต่อไป