วันนี้ (9 เม.ย.2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลพัฒนาห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองแล้วกว่า 80 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยตั้งเป้าหมายจะให้มีห้องปฏิบัติการจังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งคาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้ จะพัฒนาและให้มีห้องปฏิบัติการ 110 แห่งทั่วประเทศ และรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ สามารถตรวจวินิจฉัยได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง และส่วนภูมิภาควันละ 10,000 ตัวอย่าง
ไทยได้มีการตรวจได้แล้วกว่า 70,000 ตัวอย่าง โดยพบผู้ติดเชื้อจำนวน 2,423 คน
อ่านข่าวเพิ่ม ปูพรมตรวจ Active case finding ตัดตอน COVID-19 ระบาด
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาวิธีการตรวจสารพันธุกรรม ของเชื้อ COVID-19 แบบ Real-Time RT-PCR โดยพัฒนาน้ำยาสำหรับใช้ในการตรวจหาสารพันธุกรรม ที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย ไม่ได้สั่งซื้อจากต่างประเทศ
ปัจจุบันได้ร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผลิตชุดทดสอบ RT-PCR KIT หรือ DMSc-COVID-19 ขึ้น และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มอบให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว จำนวน 20,000 ชุด
คาดว่าสิ้นเดือนเม.ย.นี้ จะสามารถผลิตได้ถึง 100,000 ชุด และบริษัทจะผลิตต่อไปเพื่อให้ได้ถึง 1 ล้านชุดภายใน 6 เดือน ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยมีน้ำยาในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 อย่างเพียงพอ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบค.ชี้เคอร์ฟิวเวลาเดิม 4 ทุ่มถึงตี 4-รอรับคนไทยนับหมื่นกักโรค
มือโพสต์อ้างไม่เจตนาอวด 5,000 บาทเยียวยา COVID-19