ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อัพเดทมาตรการเยียวยา COVID-19 - ส่องร่าง พ.ร.ก. 3 ฉบับ

เศรษฐกิจ
8 เม.ย. 63
18:08
819
Logo Thai PBS
อัพเดทมาตรการเยียวยา COVID-19 - ส่องร่าง พ.ร.ก. 3 ฉบับ
ไทยพีบีเอส อัพเดทมาตรการรัฐช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ออกมาเพิ่มเติม พร้อมพาไปดูร่าง พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท หลังจากมติ ครม.ไฟเขียว เมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) ที่จะใช้เยียวยาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3

วันนี้ (8 เม.ย.2563) ไทยพีบีเอสออนไลน์สรุปร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรค COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ดังนี้ 1. พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะกู้เงินบาทเป็นหลัก ใช้ด้านสาธารณสุข 600,000 ล้านบาท (เยียวยาประชาชน 6 เดือน เยียวยาเกษตรกร และดูแลสาธารณสุข) และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท (สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น)

2. พ.ร.ก.ให้ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อดูและภาคธุรกิจ 500,000 ล้านบาท (ปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ดอกเบี้ย 2%) และ 3. พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 400,000 ล้านบาท (ตั้งกองทุน BSF ให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนได้)

3. มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้
3.1 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. .... เพื่อให้ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาทไปถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในภาพรวม

3.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ Non-Banks เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัทโดยการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลิสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถให้แก่ประชาชน

3.3 การปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว ปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินจากอัตรา 0.46% ต่อปี เหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินมีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชน

ส่วนมาตรการเยียวยา COVID-19 ระยะ 1 และระยะ 2 มีดังนี้

1.ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในส่วนของนายจ้างเหลือ 4% จากเดิม 5% ส่วนผู้ประกันตน เหลือ 1% และลดหย่อนเงินสมทบให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เหลือเงินสมทบอัตราเดือนละ 86 บาท จากเดิม 432 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดเดือน มี.ค.-พ.ค.2563 พร้อมทั้งขยายเวลานำส่งเงินสมทบงวดเดือน มี.ค. ภายใน 15 ก.ค.2563, เงินสมทบงวดเดือน เม.ย. ภายใน 15 ส.ค. และเงินสมทบงวดเดือน พ.ค. ภายใน 15 ก.ย.

นอกจากนี้ เพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างเป็น 75% จากเดิม 50% เป็นเวลา 200 วัน และเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานจากการลาออกเป็น 45% จากเดิม 30% (ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) เป็นเวลา 90 วัน

สำหรับมาตรการเยียวยาลูกจ้างผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 62% ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว และลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 62% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วัน มีผลบังคับใช้ 1 มี.ค-31 ส.ค.2563

2.มาตรการเยียวยากลุ่มแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมถึงผู้ส่งเงินประกันสังคมตามมาตรา 4 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการชดเชยรายได้คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563 ขยายเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการเป็น 9 ล้านคน จากเดิม 3 ล้านคน วงเงิน 45,000 ล้านบาท เปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 28 มี.ค.2563 เป็นต้นไป

3.งบจ้างงาน สำหรับการจ้างานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 วงเงิน 2,700 ล้านบาท ระยะเวลาการจ้างงานไม่เกิน 6 เดือน และอัตราค่าจ้างต่อเดือนไม่เกิน 9,000 บาท

4.มาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน โดยลดราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ลดลง 21.87 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 18.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ก๊าซหุงต้มถังขนาด 15 กิโลกรัม จะลดลงจาก 363 บาท เหลือ 318 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.เป็นต้นไป พร้อมทั้งปรับลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันลงลิตรละ 50 สตางค์ เป็นเวลา 2 เดือน

5.การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งประสบปัญหาการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน ทำให้ประสบปัญหาถังเก็บน้ำมันไม่เพียงพอ ด้วยการลดอัตราสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจาก 6% โดย ระยะแรก : เป็น 4% ระยะเวลา 1 ปี และ ระยะที่ 2 : เป็น 5% หลังจาก 1 ปี เป็นต้นไป และขยายระยะเวลาการคงอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามกฎหมายที่ 1% ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564)
รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มปริมาณการจัดเก็บน้ำมันของคลังน้ำมันบริเวณคลองเตย บางจาก ช่องนนทรี กรุงเทพ ฯ เพื่อรองรับภาวะน้ำมันที่มีปริมาณล้นสต็อกโดยให้มีปริมาณการจัดเก็บน้ำมันสูงสุดได้ตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ยังเร่งรัดการลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เบื้องต้น คาดว่าจะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 อัตรา ในการสร้างแท่นผลิต และผลักดันให้เกิดกิจกรรมการรื้อถอนแท่นผลิตที่จะไม่ได้ใช้งาน โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะมีการรื้อถอนแท่นผลิตจำนวน 53 แท่น ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการจ้างงานที่เป็นคนไทยกว่า 1,000 อัตราต่อปี (รื้อถอน 25 แท่น ต่อปี) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้วัสดุ อุปกรณ์หรือบริการจากภายในประเทศ เช่น การใช้เรือไทย โดยหารือกับผู้รับสัมปทานและกรมเจ้าท่า

6.มาตรการลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นเวลา 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563 ซึ่งจะใช้งบประมาณ 5,160 ล้านบาท และคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า) ให้กับผู้ใช้ประเภทที่ 1 คือบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก รวมทั้งสิ้น 22.17 ล้านราย วงเงินรวม 32,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังออกมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ จาก 50 หน่วยต่อเดือน เป็น 90 หน่วยต่อเดือน และขยายเวลาการชำระค่าไฟฟ้าไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบบิล สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ โดยจะไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่ผ่อนผัน สำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้า ประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563

รวมทั้งการขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกิจการเฉพาะอย่าง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าที่พักอาศัย โดยจะไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่ผ่อนผัน สำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้า ประจำเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่

มาตรการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด จากที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายในจำนวนที่ตายตัว (70% ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน) ไม่ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าถึงจำนวนที่กำหนดหรือไม่ เป็นผ่อนผันให้จ่ายตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุด สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการผ่อนผันจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3-7 เช่น กลุ่ม SMEs โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม ให้มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 รวม 3 เดือน

ขณะเดียวกัน ยังออกมาตรการลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 30% ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรือหอพักที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม 2 รูปแบบ คือที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือ ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง ฯ

7.มาตรการลดค่าน้ำประปาในอัตรา 3% ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นเวลา 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563 คาดว่าจะใช้งบประมาณ 330 ล้านบาท และคืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่พักอาศัย รวม 5.7 ล้านราย วงเงิน 2,834 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้วางเงินประกันการใช้น้ำสามารถตรวจสอบสิทธิและแจ้งความประสงค์เพื่อขอคืนเงินประกันผ่านช่องทางต่างๆ

รวมทั้งการขยายเวลาชำระค่าน้ำประปาไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกิจการเฉพาะอย่าง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าที่พักอาศัย โดยจะไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่ผ่อนผัน ซึ่งจะมีผู้ได้ประโยชน์ 30,900 ราย

8.การจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนทั้งประเทศผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงพลังงานจะขอรับการจัดสรรงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ประมาณ 220 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อแอลกอออล์แปลงสภาพสำหรับฆ่าเชื้อจากผู้ผลิตเอทานอลจำนวน 1,000 ลิตรต่อวัน ส่งให้ทุกจังหวด 76 จังหวัดทั่วประเทศทางไปรษณีย์ให้กระทรวงมหาดไทยและส่งต่อให้ประชาชนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเวลา 60 วัน

9.สถานธนานุเคราะห์ (สธค.) โรงรับจำนำของรัฐในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ขยายเวลาตั๋วจำนำ 90 วัน แก่ผู้มาใช้บริการวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ที่มีตั๋วจำนำตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-31 มี.ค.2563 จะขยายอายุตั๋วจำนำจาก 4 เดือน 30 วัน เป็น 4 เดือน 120 วัน โดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่ต้องมาลงทะเบียนที่ สธค.ทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.2563 จำกัด 1 คน 1 สิทธิ์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ให้ผู้บริการโรงรับจำนำจะอยู่ที่ 5,000 บาท ดอกเบี้ย 0.25%, 10,000 บาท ดอกเบี้ย 0.75%, 10,000-20,000 บาท ดอกเบี้ย 1% และ 100,000 บาท ดอกเบี้ย 1.25%

สำหรับผู้มาใช้บริการจำนำใหม่วงเงินต้นไม่เกิน 15,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.125% ต่อเดือน ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันถัดจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึง 31 พฤษภาคม 2563 จำกัดสิทธิ 1 คน ต่อตั๋ว 1 ใบ ต่อ 1 รอบการจำนำเท่านั้น

สถานธนานุบาล โรงรับจำนำที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมาตรการผ่อนผันหรือยืดระยะเวลาในการชำระหนี้แก่ผู้จำนำที่ได้มาจำนำในเดือน ก.พ.-มิ.ย.2563 ให้ขยายเวลาไถ่ถอนทรัพย์รับจำนำไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน นับจากวันครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย (4 เดือน 30 วัน)

นอกจากนี้ ยังให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ที่นำทรัพย์สินมาจำนำ ในระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 ดังนี้ เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.125% ต่อเดือน, เงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน

10.มาตรการด้านภาษี โดยเลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปเป็นสิงหาคม 2563, ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข, เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ, เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล, มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค COVID-19, มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของสถานบริการที่ประกอบกิจการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และมาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน

11.มาตรการด้านการเงิน โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19, โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19, โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของ COVID-19 และโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

12.สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนการบริจาคแก้ไขปัญหาโรค COVID-19
12.1 บุคคลธรรมดา บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้เท่าที่จำนวนบริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

12.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ

12.3 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริจาคเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19
ทั้งนี้ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหมด มีผลใช้บังคับสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร (e-Donation) ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.2563 ถึงวันที่ 5 มี.ค.2564

13.สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยธนาคารออมสิน สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563

14.สินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท วงเงินสูงสุด 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

นอกจากนี้ ยังอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการสินเชื่อฯ ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จำนวนไม่เกิน 1,600 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงาน (วงเงิน 40,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี) โดยแบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 800 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีต่อๆ ไป

15.ให้ธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 2,000 ล้านบาท โดยให้สำนักงานธนานุเคราะห์ นำไปเป็นทุนปล่อยกู้ให้ประชาชน คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง