วันนี้ (8 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทั้งมีบุคลากรและนักศึกษาติดเชื้อ จนทำให้มีการสั่งปิดการเรียนการสอนในห้องเรียนชั่วคราว และโดยให้นักศึกษาเรียนผ่านออนไลน์ แต่รูปแบบนี้ก็เริ่มเกิดผลกระทบต่อนักศึกษา เนื่องจากการเรียนได้ไม่เต็มที่ และรูปแบบการสอนและเนื้อหาเข้าใจยาก จนห่วงว่าห่วงกระทบสอบปลายภาค
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ระบุว่าได้มีการจ่ายค่าเทอม 2 ไปแล้วในช่วงเดือน พ.ย.2562 ซึ่งเป็นค่าเทอมของภาคเรียนที่ 2 ระหว่างเดือน ธ.ค.-พ.ค.นี้ โดยคณะมนุษยศาสตร์จ่ายค่าเทอมไป 38,000 บาท ช่วงที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาติดเชื้อ COVID-19 ทำให้ต้องปิดเรียนเบื้องต้น 14 วันช่วงกลาง มี.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่ต้องสอบกลางภาค มีการปรับให้สอบออนไลน์แทน
การสอบออนไลน์ผ่านไปแล้ว แต่เมื่อปรับมาเรียนออนไลน์ในอีก 2 เดือนที่เหลือ ส่วนตัวเจออาจารย์บางคนไม่สอน จากเดิมอาทิตย์ละ 6 วิชา แต่อนนี้สอนแค่ 1-2 วิชา ถือว่าน้อยมาก ไม่คุ้มค่าเทอม
เรียนออนไลน์ไม่เอื้อ-ไม่คุ้มค่าเทอม
นักศึกษาคนนี้ ระบุว่าส่วนตัวมองว่าการเรียนถ้าอาจารย์ไม่พร้อม จะทำให้นักศึกษาได้ผลกระทบตามมา เพราะเรียนไม่รู้เรื่องเท่ากับในห้องเรียนแล้ว ยังอาจจะส่งผลการสอบปลายภาคด้วย เพราะมีเวลาเรียนน้อย และรูปแบบยังไม่รองรับ แม้ว่าเข้าใจที่สถานที่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้วว่าการเรียนอาจะไม่เต็มร้อย พยายามปรับด้วยทบทวนเนื้อหาเอง และหาความรู้เพิ่มเติมในวิชาที่ตัวเองเรียน
ที่ผ่านมานักศึกษาเรียกร้องให้คืนค่าเทอมบางส่วน เพราะเรียนเนื้อหาแค่ครึ่งเดียว ควรจะให้นักศึกษานำเงินส่วนต่างนี้ เช่นการส่งค่าเทอมไปใช้ในเทอมหน้าแทน หรือนำเงินบางส่วนไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
อ่านข่าวเพิ่ม เช็กด่วน! มหาวิทยาลัยเรียนออนไลน์ป้องกัน COVID-19
#คืนค่าเทอมนักศึกษาผลกระทบเรียนออนไลน์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาบางส่วนได้เรียกร้องผ่านทาง เฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยขอให้มหาวิทยา ลัย ต้องคืนค่าเทอมให้นักศึกษาอย่างน้อย 25% เนื่องด้วยโรคระบาด COVID-19 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศปรับการเรียนการสอนไปสู่รูปแบบออนไลน์ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ ลดลงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายด้านอาคารสถานที่/ค่าน้ำค่าไฟ ค่าดำเนินกิจกรรมบางส่วน ค่า OT เจ้าหน้าที่
แต่ค่าใช้จ่ายของนักศึกษากลับไม่ได้ลดลงเลย ซ้ำยังต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง บางคนยังคงต้องจ่ายค่าหอพัก ในขณะที่ปีการศึกษาหน้าจะกลายเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทางบ้านของหลายๆคน ที่ต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อนำมาจ่ายค่าเทอม
มหาวิทยาลัย จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือนักศึกษาด้วยการคืนค่าเทอมบางส่วนอย่างน้อยหนึ่งในสี่หรือ 25% แลกกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่ลดลงหลังจากปรับการเรียนการสอนสู่รูปแบบออนไลน์
เงินจำนวนนี้จะช่วยให้นักศึกษาได้อิ่มท้องไปอีกหลายมื้อ หรือแม้แต่ช่วยเหลือทางบ้านในเรื่องค่าเทอมในปีการศึกษาถัดไป
จึงขอเชิญชวนร่วมกันติดแฮชแท็ก#คืนค่าเทอมให้นักศึกษา
เพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเยียวยาผลกระทบของนักศึกษาจากโรคระบาด COVID-19 ในสภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้#เยาวชนปลดแอก #FreeYOUTH
ที่ไหนเริ่มคืนเงินค่าเทอม
ล่าสุดตอนนี้มีรายงานว่า 9 มหาวิทยาลัยพิจารณาคืนค่าเทอม เนื่องจากมหาวิทยาลัยปิดเรียนอยู่บ้าน ดังนี้
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในทวิตเตอร์ และมีติดแฮชแท็ก#คืนค่าเทอมให้นักศึกษา โดยพบว่าหลังจากมีการรณรงค์มาแล้ว มอไหนมาแล้วบ้าง? นับเป็นเวลา 1 สัปดาห์กับอีก 3 วันแล้วที่ #FreeYOUTH เริ่ม Campaign คืนค่าเทอมบางส่วนให้นักศึกษา ในเวลานี้มีทั้งมหาวิทยาลัยที่เริ่มดำเนินมาตราการคืนเงินค่าบำรุงการศึกษาแล้ว
เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ ในสัดส่วน 20% และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในสัดส่วน 25% สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับทุน และ 15% สำหรับผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาไม่เกิน 50% (ทุกวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยค่าใช้จ่ายลดลง-หนุนแบ่งเบาภาระให้นศ.
บางมหาวิทยาลัยอย่างมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ออกมาตราการลดค่าเทอมสำหรับเทอมถัดไป ซึ่งถือว่าเป็นการคืนค่าเทอมให้กับนักศึกษาในอีกรูปแบบหนึ่ง
บางมหาวิทยาลัยยังคงอยู่ในขั้นพิจารณาสัดส่วนและหารือ แต่เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า หลายมหาวิทยาลัยยังคงไม่มีแม้แต่การประกาศอย่างเป็นทางการ
แม้เวลาจะผ่านไป แต่เรายังคงยืนยันให้เหตุผลเดิมว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องหาทางในการดำเนินการคืนค่าเทอมบางส่วนให้กับนักศึกษาเพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 แลกกับค่าใช้จ่ายต่างๆของมหาวิทยาลัยที่ลดลง หลังจากปรับการเรียนการสอนมาสู่รูปแบบออนไลน์ ส่งผลให้นักศึกษาไม่ได้เข้าไปใช้งานพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย และการทำกิจกรรมต่างๆลดลง ค่าใช้จ่ายโดยรวมของมหาวิทยาลัยจึงลดลงไปด้วย
โดยค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยนั้นแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆแยกจากกัน ยกตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2561 มีการแบ่งงบประมาณ
- แผนการจัดงานการศึกษา 2,062 ล้านบาท
- แผนงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา 656 ล้านบาท
- แผนงานกิจการนักศึกษา 80 ล้านบาท
- แผนงานวิจัย 302 ล้านบาท
- แผนงานบริการวิชาการฯ 414 ล้านบาท
- แผนงานศิลปะวัฒนธรรมและกีฬา 24 ล้านบาท
- แผนงานบริการสุขภาพ 3,206 ล้านบาท
- แผนงานบริหาร 3,757 ล้านบาท
- แผนงาน HR 220 ล้านบาท
- แผนงานประกันคุณภาพการศึกษา 10 ล้านบาท
- เงินสำรองจ่าย 114 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พรุ่งนี้! มธ.นัดทุกคณะถกเรียนออนไลน์ ป้อง COVID-19 ระบาดเพิ่ม
"ธรรมศาสตร์" ลดค่าหอพัก-แจกแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตให้ นศ.สู้ไวรัส