วันนี้ (7 เม.ย.2563) ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายประลอง ดำรง ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เกี่ยวกับสถานการณ์ขยะในช่วงของการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เนื่องจากหลายออฟฟิสมีนโยบายให้คนหยุดทำงานที่บ้าน (Work from Home ) ประกอบกับเป็นช่วงที่เด็กๆปิดเทอมหลายเดือน ส่งผลให้การสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี
นายประลอง กล่าวว่า ในช่วงเดือนม.ค.-ถึงมี มี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับข้อมูลจากผู้เก็บขนขยะของกทม.พบแนวโน้มปริมาณขยะช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา มีปริมาณขยะจากครัวเรือนน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่กลับพบขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% โดยเฉพาะประเภทกล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแบบเดลิเวอรี ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดดูดที่ใช้กับเครื่องดื่ม
พฤติกรรมประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และอาหารเดลิเวอรีที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว
แนะใช้กล่องย่อยสลาย-ถุงกระดาษทดแทน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า นอกจากนี้พบปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือน และผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด เพราะกลัวการติดเชื้อโรค ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เสนอแนวทางการลดปริมาณขยะ และขยะพลาสติกช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 หากอยู่ในช่วงเก็บตัวอยู่บ้านต้องใช้บริการสั่งแบบเดลิเวอรี สามารถแจ้งทางร้านหรือพนักงานส่งของที่ให้บริการไม่ขอรับช้อนพลาสติก ซึ่งจะช่วยลดขยะพลาสติกในส่วนนี้ลงได้จำนวนมาก
ในบ้านเรือนมีใช้ช้อนส่วนตัวที่สะอาดปลอดภัยมากกว่า ขณะที่ร้านอาหารควรใช้บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเสนอให้ใช้กล่องที่ย่อยสลายได้แทน
อ่านข่าวเพิ่ม เดลิเวอรี แบบไหนปลอดภัยห่าง COVID-19
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า หากบ้านใดมีสถานที่ประกอบอาหารสามารถทำอาหารทานเองได้ แทนการบริโภคอาหารสำเร็จรูปที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวทิ้งก็ควรจะคัดแยก อีกทั้งการซื้อสินค้าอาหารแต่ละครั้งควรตรวจสอบวันหมดอายุของสินค้าก่อนซื้อทุกครั้ง ควรซื้อในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับการบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดขยะอาหาร
ทั้งนี้นายประลอง กล่าวอีกว่า สำหรับร้านค้าที่มีชื่อไม่น่าเป็นห่วงแต่ร้านอาหารที่ขายในตรอกซอกซอยที่เป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง ที่คนเคยไปนั่งกินริมทางได้ แต่เมื่อไม่ให้คนนั่งกินในร้านก็ต้องใช้ถุงพลาสติกหลายแบบทั้งถุงร้อน ถุงหูหิ้วซึ่งร้านพวกนี้ยังไม่สามารถเก็บสถติได้ จึงอาจจะยังไม่รู้ปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่ม แต่แนะนำว่าประชาชนที่จะไปซื้อก็นำภาชนะของตัวเอง เช่น กล่อง ปิ่นโตไปใส่อาหาร
นอกจากนี้ควรจะช่วยกันคัดแยกขยะเดลิเวอรีออกเป็นชิ้นๆ เช่น พลาสติก ถุงกระดาษ และวัสดุอื่นเพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บและนำไปทำลาย
ขยะย่อยสลากยากเพิ่ม-ควรจัดเก็บเพื่อคัดแยก
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์เจ้าของบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านย่านดอนเมือง โดยในบ้านมีผู้ใหญ่ 3 คนเด็ก 1 คนพบว่าขยะจำพวกกล่องใส่อาหารสำเร็จรูป และขวดน้ำพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัวจากปกติจะบริโภคขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตรเฉลี่ยไม่เกิน 3 ขวดต่อวัน แต่หลังจากต้องทำงานที่บ้าน ปริมาณขยะจากขวดพลาสติกเพิ่มขึ้น รวมทั้งขยะพวกกล่องเดอริเวอรี แก้วชานมไข่มุก จึงได้รวบรวมไว้ เพื่อให้คนเก็บขยะนำไปคัดแยก
ขณะที่จากการสอบถามพนักงานเก็บขยะของ กทม.ระบุว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมขยะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ที่เป็นปัญหา คือ ภาชนะใส่อาหารเดลิเวอร์รี่ที่ยากต่อการย่อยสลาย
คพ. จะร่วมกับทางกทม.เพื่อประเมินและเก็บสถิติขยะเดลิเวอรีอย่างจริงจัง เพื่อหาแนวทางในการป้องกันปัญหาขยะ เนื่องจากแนวโน้มคนยังต้องอยู่ทำงานที่บ้านต่ออีกระยะหนึ่ง
ที่ไหนบ้างรวมขยะไปกำจัด
ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมกทม.พบว่าในปี 2562 ในกทม.มีประมาณขยะรวมกันจากทุกเขตตลอดทั้งปี 10,564 ตัน พบเป็นถุงพลาสติกปนเปื้อนไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 1,570 ตันต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 14-15 เมื่อคิดเฉลี่ยประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมดกว่า 10 ล้านคน ใช้ถุงพลาสติก 8 ใบต่อคนต่อวัน
นอกจากนี้ กลุ่ม BIGTree ยังเป็นสื่อกลางให้คนรวบรวมขยะเหล่านี้ไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยระบุว่า ในช่วงปรับพฤติกรรมตามสถานการณ์โควิด เมื่ออยู่บ้าน-สั่งอาหารมารับประทานกัน นอกจากได้อาหารแล้วยังได้ "กล่อง" ทั้งหลาย หากเกินจะนำกลับมาใช้ต่อ สามารถส่งเพื่อนำเอาไปเผาแทนพลังงานถ่านหินได้นะคะ โดยส่งไปที่บริษัทเอ็น15 เทคโนโลยี จำกัด
(สมบูรณ์ 086-3342612)700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง
จ.ชลบุรี 20160