เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันลดลงตามวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น
แม้จะมีการขอความร่วมมือให้ผู้สูงอายุเก็บตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุด แต่ผู้สูงอายุจำนวนมากก็ต้องการการดูแลจากญาติหรือผู้ดูแลที่ยังมีความจำเป็น หรือไปหาซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน จึงมีโอกาสนำเชื้อจากภายนอกมาสู่ผู้สูงอายุ อีกทั้งการจำกัดบริเวณให้ผู้สูงอายุอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานานติดต่อกันหลายเดือน อาจส่งผลให้สภาพร่างกายและสมองของผู้สูงอายุถดถอยลง จนเกิดภาวะพึ่งพิงในระยะยาว จึงมีความจำเป็นต้องมีแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19
สังเกตอย่างไรว่าผู้สูงอายุติดเชื้อ
กรณีที่ผู้สูงอายุติดเชื้อ อาการอาจไม่ชัดเจนและไม่ตรงไปตรงมา เช่น อาจไม่มีไข้ หรืออาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาการ หรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึมสับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะรุนแรงมากกว่าในวัยอื่นๆ
จะป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อายุได้อย่างไร
กรณีที่เป็นญาติที่ไม่ใช่ผู้ดูแลหลักและคนรู้จัก
- ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อต้องแยกตัวออกจากผู้อื่นและไม่เข้าไปใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้สูงอายุอย่างเด็ดขาด โดยให้สังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน
- ห้ามผู้ที่มีไข้ตัวร้อน หรือมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ เข้าเยี่ยมผู้สูงอายุโดยเด็ดขาด
- งด/ลด การมาเยี่ยมจากคนนอกบ้านให้น้อยที่สุด
- ในขณะเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุ ให้ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ลดการเข้าใกล้หรือสัมผัส รักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
ผู้ดูแลหลักของผู้สูงอายุและตัวผู้สูงอายุ
- จัดให้มีผู้ดูแลหลักคนเดียว โดยเลือกคนที่สามารถอยู่บ้านได้มากและจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านน้อยที่สุด
- ระหว่างที่มีการระบาด ทั้งผู้ดูแลหลักและผู้สูงอายุควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด
- ทั้งผู้ดูแลหลักและผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็ก
- หากต้องออกนอกบ้าน ควรเลือกเวลาที่ไม่เจอความแออัด สวมหน้ากากอนามัย และพกแอลกอฮอล์เจลทุกครั้ง
- อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันทีที่กลับถึงบ้าน
- หากผู้สูงอายุต้องไปพบแพทย์ ในกรณีอาการคงที่หรือยังปกติ ให้เลื่อนนัดหรือรับยาใกล้บ้านแทน แต่ในกรณีที่อาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อนัดหมายตรวจในช่องทางที่ปลอดภัยที่สุด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน
- ผ้สูงอายุควรแยกห้องพักและขอใช้ส่วนตัว หากแยกไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด
ดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ไม่ให้เกิดการถดถอยของร่างกายและสมอง
โดยยึดหลัก 5 อ. ได้แก่
อาหาร - รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและปรุงสุกใหม่ๆ
ออกกำลังกาย - ด้วยท่าทางง่ายๆ เช่น การเดิน หรือแกว่งแขนอย่างสม่ำเสมอ
อารมณ์ - หยุดรับข่าวสารมากเกินไป เพื่อป้องกันภาวะวิตกกังวล
เอนกายพักผ่อน – การนอนสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ควรให้นอน 7 – 9 ชั่วโมง/วัน
ออกห่างสังคมนอกบ้าน – ระหว่างการระบาด ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด